ชิลี สร้างบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติหลังแรกในละตินอเมริกา ใช้เวลาเพียง 3 วัน

ชิลี สร้างบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติหลังแรกในละตินอเมริกา ใช้เวลาเพียง 3 วัน

มหาวิทยาลัยบิโอบิโอ ประเทศชิลี สร้างประวัติศาสตร์ด้วยบ้านพิมพ์ 3 มิติหลังแรกของภูมิภาค ใช้เวลาพิมพ์เพียง 29 ชั่วโมง ประกอบเสร็จใน 2 วัน เปิดมิติใหม่ของการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยราคาประหยัด

วิกฤติที่อยู่อาศัยกำลังเป็นปัญหาที่ท้าทายทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคละตินอเมริกาที่ประชากรจำนวนมากยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบ้านที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสม ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบิโอบิโอ ประเทศชิลี แก้ปัญหานี้ด้วยการสร้างบ้านด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติหลังแรกของภูมิภาคจนสำเร็จ นับเป็นก้าวสำคัญที่อาจเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมการก่อสร้างในอนาคต

ชิลี สร้างบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติหลังแรกในละตินอเมริกา ใช้เวลาเพียง 3 วัน

บ้านต้นแบบแห่งอนาคต

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบิโอบิโอ (University of Biobío) แห่งประเทศชิลี สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับวงการก่อสร้างในละตินอเมริกา ด้วยการสร้างบ้านต้นแบบโดยใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ตั้งอยู่ในย่านทอร์เรโอเนส เมืองคอนเซปซิออน 

คาซา เซมิญ่า” (Casa Semilla) หรือ “บ้านเมล็ดพันธุ์” คือชื่อของบ้านต้นแบบหลังนี้ ด้วยพื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร ถูกสร้างขึ้นจากผนังคอนกรีตทั้งหมด 7 ส่วน โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงผสานการทำงานระหว่างหุ่นยนต์อุตสาหกรรม KUKA KR120 และเครื่องพิมพ์ Atenea-UBB ที่พัฒนาโดยทีมวิจัยเอง

ศ.ดร.คลอเดีย มูนญอซ (Claudia Muñoz) ผู้เชี่ยวชาญจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบิโอบิโอ เปิดเผยถึงความรวดเร็วของเทคโนโลยีนี้ว่า การพิมพ์ผนังทั้งหมดใช้เวลาเพียง 29 ชั่วโมง และประกอบเสร็จภายในเวลาเพียง 2 วัน โดยกระบวนการทั้งหมดดำเนินการในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย ซึ่งช่วยควบคุมคุณภาพและลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอก

ชิลี สร้างบ้านจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติหลังแรกในละตินอเมริกา ใช้เวลาเพียง 3 วัน

ด้วยความที่ชิลีตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ทีมวิจัยจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการออกแบบโครงสร้างให้แข็งแรงและปลอดภัย โดยคำนึงถึงมาตรฐานการรับมือแผ่นดินไหวและสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนของประเทศ

ดร.โรดริโก การ์เซีย (Rodrigo García) หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงเปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้างแบบดั้งเดิม แต่ยังช่วยลดระยะเวลาในการวางแผน การจัดซื้อวัสดุ และการเตรียมพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย

โครงการบ้านพิมพ์ 3 มิติในชิลี นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการก่อสร้างในละตินอเมริกา ซึ่งกำลังเผชิญความท้าทายด้านที่อยู่อาศัย โดยทีมวิจัยจะทำการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ต่อไป เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในอนาคต

ความหวังใหม่ของวงการที่อยู่อาศัย

สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกาที่กำลังเผชิญวิกฤติที่อยู่อาศัยราคาประหยัด เทคโนโลยีการพิมพ์บ้าน 3 มิติอาจเป็นทางออกที่สำคัญ ด้วยความสามารถในการสร้างบ้านที่รวดเร็ว ควบคุมต้นทุนได้ และปรับแบบให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะพื้นที่

“เราต้องการพิสูจน์ว่าละตินอเมริกาสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการในภูมิภาคได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีเสมอไป” ดร.การ์เซีย กล่าวด้วยความมุ่งมั่น พร้อมเผยว่าทีมวิจัยกำลังพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนี้ เพื่อให้สามารถสร้างบ้านได้หลากหลายรูปแบบและมีต้นทุนที่เข้าถึงได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติสำหรับที่อยู่อาศัยกำลังแพร่หลายทั่วโลก ตัวอย่างที่น่าสนใจคือที่รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา กำลังก่อสร้างโรงแรม “เอล คอสมิโค” ด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2026 พร้อมห้องพักหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบสามห้องนอนและห้องเดี่ยว ในราคา 6,500-13,000 บาทต่อคืน

เทคโนโลยีพิมพ์ 3 มิติวงการก่อสร้าง

เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในงานก่อสร้าง เป็นการใช้เครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ร่วมกับระบบหุ่นยนต์ เพื่อฉีดคอนกรีตเหลวเป็นชั้นๆ ตามแบบที่กำหนดไว้ในคอมพิวเตอร์ ส่วนผสมของคอนกรีตที่ใช้จะถูกออกแบบพิเศษให้มีความหนืดและระยะเวลาการแข็งตัวที่เหมาะสมกับการพิมพ์

ข้อดีของเทคโนโลยีนี้ นอกจากความรวดเร็วในการก่อสร้างแล้ว ยังรวมถึงการประหยัดแรงงาน ลดความผิดพลาดในการก่อสร้าง ลดปริมาณเศษวัสดุเหลือทิ้ง และสามารถควบคุมคุณภาพได้แม่นยำกว่าการก่อสร้างแบบดั้งเดิม

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาระบุว่า เทคโนโลยีนี้ยังมีข้อจำกัด เช่น ต้นทุนเครื่องจักรและระบบที่สูง ความท้าทายในการควบคุมคุณภาพคอนกรีตให้สม่ำเสมอ ข้อจำกัดด้านขนาดและความซับซ้อนของโครงสร้าง รวมถึงความจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

อ้างอิง: reuters