Fano.ai บริษัทเทคฯ ฮ่องกงที่ใช้ AI จับเสียง Clone Voice ลดเสี่ยงมิจฉาชีพภาคการเงิน
"กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ "คีธ โชว" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ของ Fano.ai บริษัทเทคฯ ฮ่องกงที่ใช้ AI จับเสียง Clone Voice ลดเสี่ยงมิจฉาชีพภาคการเงิน ซึ่งเตรียมมาไทยปีหน้า
เป็นที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในด้านต่างๆ อย่างมาก บริษัท Fano.ai คือหนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยีเสียงและภาษาที่กำลังมุ่งใช้เอไอเพื่อแก้ปัญหาการปลอมแปลงเสียงและความปลอดภัยด้านการยืนยันตัวตน
คีธ โชว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ของ Fano.ai ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ในมหกรรม Hong Kong Fintech Week 2024 ณ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ถึงความท้าทายในอุตสาหกรรม และแผนการขยายธุรกิจสู่ตลาดในภูมิภาคต่างๆ
ทั้งนี้ Fano.ai ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2015 โดยผู้ก่อตั้งที่มีพื้นฐานด้านการวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง คีธเล่าว่า "เราเป็นบริษัทด้านเสียงและภาษาปัญญาประดิษฐ์ ที่มุ่งเน้นการแปลงเสียงเป็นข้อมูลเชิงบริบท ไม่ว่าจะเป็นภาษา อารมณ์ หรือความตั้งใจ เราสามารถแปลงทั้งหมดเป็นข้อมูลเชิงบริบทในรูปแบบข้อความ ซึ่งเป็นธุรกิจพื้นฐานของเรา"
ธุรกิจหลักของ Fano.ai คือการตรวจสอบและตรวจจับเสียงที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีเอไอ หรือ "Clone Voice" ซึ่งกำลังเป็นประเด็นท้าทายใหม่ในวงการ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงิน "ที่ผ่านมาธุรกิจจำนวนมากให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ของเราอย่างมาก เพราะมันเข้ามาแก้ปัญหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงด้วยการสร้างเสียงเทียมที่หูมนุษย์ปกติอาจไม่สามารถแยกแยะได้"
คีธอธิบายให้ฟังว่า Fano.ai มีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบว่าเสียงที่ได้รับนั้นเป็นเสียงจริงของบุคคลหรือเป็นเสียงเทียมที่สร้างขึ้นด้วยเอไอ โดยจะมีการสร้าง "DNA เสียง" ของผู้ใช้งานจากบันทึกเสียงในอดีต และใช้เปรียบเทียบกับเสียงในปัจจุบันเพื่อยืนยันตัวตน "อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่มีบันทึกเสียงของคุณในระบบ เรายังสามารถระบุได้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงเทียมหรือไม่"
นอกจากการใช้งานในภาคการเงินการธนาคาร (เช่น HSBC) Fano.ai ยังมีลูกค้าในภาครัฐ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ใช้เทคโนโลยีของเทคโนโลยีของบริษัทฯ ในการสรุปบันทึกประจำวันแทนการพิมพ์ด้วยตัวเอง
ในปัจจุบัน Fano.ai มีมูลค่าบริษัทประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสำนักงานในสิงคโปร์และในภูมิภาคเอเชีย โดยตลาดต่อไปที่บริษัทมุ่งมั่นจะขยายธุรกิจคือประเทศไทย
เขาให้ความเห็นว่า "ไทยเป็นตลาดเป้าหมายต่อไปของเรา เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังเผชิญกับแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีปลอมแปลงเสียงควบคู่ไปกับความต้องการด้านการยืนยันตัวตนที่มีความปลอดภัยมากขึ้น"
บริษัทคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดไทยในปี 2025 โดยนอกจากจะตั้งสำนักงานแล้ว ยังกำลังสำรวจหาพันธมิตรและหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายและผลักดันเทคโนโลยีของ Fano.aiให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
"เราจะต้องมีคนในพื้นที่ช่วยเราทำความเข้าใจตลาดท้องถิ่นและความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยให้ดีขึ้น" คีธกล่าว
ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการประมวลผลเสียงและภาษาที่ล้ำหน้า Fano.ai มุ่งไปสู่การเป็นผู้นำด้านการทวงคืนความปลอดภัยในการยืนยันตัวตนผ่านเสียงในอนาคต และคาดว่าจะสามารถขยายธุรกิจไปยังตลาดไทยได้ในอนาคต