‘ไลน์’ ยืนหนึ่งโซเชียลคอมเมิร์ซ เร่งกลยุทธ์พลิกโฉมค้าออนไลน์
"ไลน์ ชอปปิง” ชี้ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซไทยโตแกร่ง ครึ่งปีแรกธุรกิจโต 45% ร้านค้าเปิดขายสินค้าบนแพลตฟอร์มเพิ่ม 90% ย้ำวิสัยทัศน์ “Liberty to Win” กระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ เติมเต็มศักยภาพร้านค้าออนไลน์ให้สามารถเติบโตยั่งยืน
เลอทัด ศุภดิลก ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า เทรนด์การซื้อขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซยังคงได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากเป็นรูปแบบการซื้อขายที่สะดวก รวดเร็ว มีขั้นตอนที่ง่าย และสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ผ่านช่องทางแชท ปัจจุบันโซเชียลคอมเมิร์ซมีสัดส่วนราว 61% ของอีคอมเมิร์ซ
ด้วยปัจจัยบวกดังกล่าว ส่งผลให้มีการเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “LINE SHOPPING” สูงขึ้น 90% จากปีที่แล้ว และมีการเติบโตของยอดขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม (Gross Merchandise Value) สูงขึ้นถึง 45% สวนทางกับสภาพตลาดที่มีความผันผวน ปัจจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยแต่โดยรวมยังมีทิศทางที่ดี
ปัจจุบัน มีร้านค้าทั้งหมด 436,000 ร้าน สัดส่วนหลักๆ กว่า 80% เป็นร้านค้ารายย่อย ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าร้านค้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 30% ด้านประเภทสินค้าที่ขายดีที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น และสุขภาพและความงาม
ขณะที่ สินค้าที่มาแรงอย่างมากคือ กลุ่มแม่และเด็กซึ่งมีการซื้อซ้ำค่อนข้างสูง และที่เติบโตอย่างมากยังมีหมวดสินค้าของตกแต่งบ้าน สะท้อนให้เห็นว่าโซเชียลคอมเมิร์ซได้กลายมาเป็นช่องทางการขายที่มีความสำคัญและมีประสิทธิภาพ สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมนักช้อปชาวไทยได้อย่างดี
ครึ่งปีหลังโหมการตลาดทุกมิติ
ผลการศึกษาเทรนด์ชอปปิง “ฟิวเจอร์ ช้อปเปอร์ (Future Shopper)” จากวันเดอร์แมน ธอมสันปี 2564 ระบุว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ซื้อสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซสูงสุดในโลกอยู่ที่ 88% ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น มาจากความง่ายในการซื้อ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจมากกว่าราคาหรือการทำโปรโมชั่น
ขณะที่คนไทย 95% ยืนยันว่า การชอปปิงออนไลน์มีส่วนเข้ามาช่วยเรื่องการใช้ชีวิตช่วงเกิดโควิด-19 ในปี 2564 ส่งผลให้การชอปปิงออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด และปัจจุบันแซงหน้าการชอปปิงออฟไลน์ไปแล้ว ส่วนปี 2565 สัดส่วนของการชอปปิงออนไลน์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65% จากปี 2564 ที่มีสัดส่วน 35% และมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงต่อเนื่อง
สำหรับไลน์ กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ยังคงโฟกัสที่การดึงผู้ขายเปิดร้านพร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ให้ “LINE SHOPPING” ในฐานะเครื่องมือของร้านค้าที่มีฐานแฟนสามารถขายของได้ในช่องทางสื่อสารของตนเอง
ไฮไลต์เช่น การให้ความรู้ผ่านกิจกรรมของ “LINE SHOPPING Academy” และ “LINE for Business SME BOOTCAMP” รวมถึงเตรียมปล่อยฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยร้านค้ากระตุ้นยอดขายได้เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ การเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานแพลตฟอร์มจะเดินหน้ากิจกรรมทางการตลาด โปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อซ้ำ ผ่านการมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การแจก LINE POINTS เพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า โปรโมชั่นรวมกับร้านค้าต่างๆ ฯลฯ โดยภาพรวมวิธีทำการตลาดจะมีการเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน (Online merge Offline ; OMO)
ปลดล็อกข้อจำกัด-เพิ่มโอกาสใหม่ๆ
เพื่อเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์ “Liberty to Win” ในฐานะผู้นำโซเชียลคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของเมืองไทย ไลน์มีความตั้งใจช่วยปลดล็อกทุกข้อจำกัดและเพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการทุกราย รวมถึงร้านค้าเอสเอ็มอีให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและแข่งขันได้
ล่าสุด เตรียมจัดงาน “Social Commerce Day 2022 สปาร์คพลังใจ เติมไฟธุรกิจออนไลน์” วันที่ 27 ส.ค. 2565 อีเวนต์ใหญ่แห่งปีเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจให้กับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์และผู้ที่สนใจอยากเริ่มต้นธุรกิจ มากกว่านั้นเปิดตัว 3 ฟีเจอร์ใหม่ที่จะมาช่วยให้ร้านค้าออนไลน์ขายดียิ่งขึ้น
“จุดแข็งของไลน์ชอปปิงมาจากการวางตำแหน่งทางการตลาด เป้าหมายลูกค้าชัดเจน ทำให้ร้านค้ามีฐานแฟนที่เหนียวแน่น เกิดการซื้อซ้ำ สามารถเข้าถึงและตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงจุด ส่วนของการแข่งขันไม่คิดว่ามีใครเป็นคู่แข่งโดยตรง ไลน์ชอปปิงมีผู้ค้ารวมถึงวิธีการขายที่มีความเฉพาะตัว ด้านรายได้ยังมาจากการโฆษณาเป็นหลัก แนวทางธุรกิจโฟกัสที่การเพิ่มผู้ขายและเชื่อว่าร้านค้าต่างๆ จะพาแฟนหรือลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นได้”
ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นไลน์กว่า 53 ล้านคน จำนวนไลน์ออฟฟิเชียลแอคเคาท์กว่า 5 ล้านบัญชี ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานไลน์ชอปปิงต่อเดือนมีอยู่กว่า 12 ล้านคน โดยเฉลี่ยมี Basket size ประมาณ 1,000 – 1,200 บาทต่อออเดอร์