การวิเคราะห์เชิงลึกสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองกลุ่ม Aging Society
การวิเคราะห์เชิงลึกสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองกลุ่ม Aging Society หรือสังคมผู้สูงอายุ ปี 63 มีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป 11.6 ล้านคน สัดส่วนคิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งหมด และจะผ่านเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 65 คาดการณ์ว่าในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) แบ่งระดับของสังคมผู้สูงอายุออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
- ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ
- ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) หมายถึง มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ
- ระดับสังคมผู้สูงอายุสุดยอด (Super-aged society) หมายถึง มีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 โดยปี 2563 มีผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ประมาณ 11.6 ล้านคน สัดส่วนคิดเป็น 17.5% ของประชากรทั้งหมด และจะผ่านเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2565 คาดการณ์ว่า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด
หมายความว่า อีกไม่ถึง 10 ปี ข้างหน้า เมื่อเราเดินในห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน เราจะเจอผู้สูงอายุอายุ 65 ปีขึ้นไป 20 คนใน 100 คน อีก 30 คนอาจเป็นเด็กถึงวัยรุ่น ที่เหลืออาจเป็นวัยกลางคน
(ภาพโดย jhenning)
ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ให้เหตุผลว่า สมองของผู้สูงอายุยืดหยุ่นมากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดกัน ในวัยนี้ การทำงานของสมองซีกขวาและซ้ายจะสอดคล้องกัน โดยมีการใช้ตรรกะและจินตนาการร่วมกันในการสรุปความคิดหรือการตัดสินใจ
แน่นอนว่าสมองไม่ได้เร็วเหมือนในวัยเยาว์อาจ “คิดช้าแต่แก้ปัญหาได้จริง” เมื่ออายุมากขึ้น เรามักจะตัดสินใจได้ถูกต้องและเปิดรับอารมณ์เชิงลบน้อยลง อาจเนื่องจากประสบการณ์ที่เราเคยพบทำให้เราเริ่ม “หาจุดลงตัวของปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
เมื่อเวลาผ่านไป ปริมาณของไมอีลินในสมองจะเพิ่มขึ้น ซึ่ง “ไมอีลิน” คือเยื่อหุ้มเส้นใยประสาทที่ช่วยให้การนำข้อมูลจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทอื่นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้เซลล์สมองส่งผ่านข้อมูลที่รับมาจากประสาทสัมผัสทั้งห้าได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพด้วยเหตุนี้ความสามารถทางปัญญาจึงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ IQ แต่อาจเป็น Wisdom ในการแยกแยะ วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์และการตัดสินใจ
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุแบบเราๆ ในอนาคตจะมีการเลือก การวิเคราะห์และการตัดสินใจที่เฉียบคมขึ้น หากเราเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ แล้วผู้สูงอายุเหล่านี้จะเลือกใช้บริการที่ห้างสรรพสินค้าลักษณะใด เลือกสินค้าแบบไหนและใช้บริการกับธุรกิจใดบ้าง? ซึ่งเราต้องทำการบ้านให้มากขึ้นหากต้องการลูกค้ากลุ่มนี้
ปัจจุบันมีสินค้าสำหรับผู้สูงอายุมากมาย เช่น ถุงเท้ากันลื่นและสามารถปกป้องผิวเท้าได้จากรอยขีดข่วนเล็กน้อย หมอนพลิกที่มีการรองระหว่างขาเพื่อให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่นอนติดเตียงสามารถขยับตัวได้ง่ายขึ้น จักรยานออกกำลังกายแบบพับที่ทำให้บริหารร่างกายแบบปลอดภัย
หรืออ่างสระผมที่รองรับต้นคอทำให้สามารถนั่งสระผมได้นอกห้องน้ำเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม สินค้าอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย รถเข็นแบบพกพา ไม้เท้าค้ำยัน ราวจับกันลื่น อาหารโภชนาการสูงและรับประทานได้ง่ายขึ้น
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการได้เล็งเห็นโอกาสของ Aging Society และผลิตสินค้าหรือบริการออกมามากมาย บ้างก็ทำตามสินค้าที่ผลิตมาก่อน บ้างก็มีการสำรวจและวิจัยหาข้อมูลเพื่อทำธุรกิจดังกล่าว แล้วหากเราต้องการจับตลาดนี้ เราจะเริ่มธุรกิจนี้อย่างไรได้บ้าง ทำตามในตลาด (Follower Market) หรือหาช่องว่างทางการตลาดแล้วกลายเป็นผู้นำก่อน (Leader Market)
ในแง่กลยุทธ์การตลาด ไม่ว่าจะเป็น ผู้นำหรือผู้ตามล้วนสามารถสร้างกำไรและสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไปได้ เช่น การเป็น Follower Market เราอาจทำตามสินค้าในตลาดไปก่อนโดยดูตามส่วนแบ่งของตลาด (Market Share) ว่าสินค้าประเภทใดที่สร้างยอดขายได้มากที่สุด หรือใช้กลยุทธ์หางยาว (Long Tails) เพื่อหาสินค้าที่มีจำนวนที่ผู้ซื้อสนใจแต่อาจไม่ใช่สินค้าหรือบริการที่มี Market Share สูงสุด
จากนั้นจึงทำสินค้าหรือบริการนั้น อาจใช้วิธี Economic of Scale สั่งผลิตจากโรงงานที่ผลิตสินค้านั้นๆ อยู่แล้ว เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต จากนั้นใช้วิธีบริหารจัดการให้สินค้าหรือบริการเรามีต้นทุนที่ต่ำที่สุด ไปสู่การปล่อยสินค้าลงสู่ตลาด
ในฉบับหน้าเราจะมาพูดถึงการเป็น Leader Market ว่าควรมีการวิเคราะห์อย่างไร เพื่อผลิตสินค้าหรือบริการให้กลายเป็นผู้นำและครองใจผู้บริโภคอย่างผู้สูงอายุกันครับ