เศรษฐกิจสิงคโปร์ปีนี้เจอปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากพิษสงคราม - โควิด
สิงคโปร์คาดเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับต่ำสุดของกรอบคาดการณ์ในปีนี้ เนื่องจากสงครามในยูเครน และภาวะชะงักงันด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อจากผลพวงของโรคโควิด-19 นั้น ได้ถ่วงแนวโน้มเศรษฐกิจของสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าเป็นหลัก
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานการเปิดเผยของกระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (MTI) ในวันนี้ (25 พ.ค.) ว่า "แนวโน้มอุปสงค์จากต่างประเทศสำหรับเศรษฐกิจสิงคโปร์อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับเมื่อสามเดือนก่อน" อย่างไรก็ดี MTI ยังคงยืนยันคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์สำหรับปี 2565 ที่ 3% - 5%
ความตึงเครียดด้านห่วงโซ่อุปทานเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางเหตุรัสเซียรุกรานยูเครน และการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 ในจีน ซึ่งทำให้ปัญหาเงินเฟ้อทวีความรุนแรงจนกดดันให้ทั่วโลกต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่การเปิดเศรษฐกิจประเทศ และตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น จะกดดันให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น
"ความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความสำคัญ" กาเบรียล ลิม ปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ กล่าว โดยเสริมว่า ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกมีแนวโน้มจะยืดเยื้อไปตลอดทั้งปีนี้และ "บั่นทอนการขยายตัวของจีดีพีในบางประเทศมากกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้"
ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานของสิงคโปร์ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนเม.ย. สู่ระดับสูงที่สุดในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษนั้น สร้างความยากลำบากให้กับธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซึ่งดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินในเดือนที่ผ่านมา
นายเอ็ดเวิร์ด โรบินสัน รองผู้ว่า MAS ระบุที่การแถลงข่าวว่า นโยบายในปัจจุบันของ MAS นั้นมีความเหมาะสม และการคุมเข้มนโยบายการเงินเมื่อสามครั้งก่อนหน้านี้จะช่วยชะลอแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่า นโยบายการเงินไม่ใช่เครื่องมือเดียวที่จะใช้ในการต่อสู้กับภาวะชะงักงันด้านห่วงโซ่อุปทาน และมีความจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาดในขณะที่ภาวะการเงินทั่วโลกตึงตัวขึ้น
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์