เปิดข้อเสนอรับมือราคาพลังงานแพง'เยอรมนี-ปากีสถาน-ศรลังกา'

เปิดข้อเสนอรับมือราคาพลังงานแพง'เยอรมนี-ปากีสถาน-ศรลังกา'

เปิดข้อเสนอรับมือราคาพลังงานแพง'เยอรมนี-ปากีสถาน-ศรลังกา' โดยเฉพาะกรณีของเยอรมนี ที่พลังงานในประเทศเริ่มมีจำกัด เนื่องจากรัสเซียลดปริมาณน้ำมันและก๊าซที่เคยส่งให้

ตอนนี้รัฐบาลหลายประเทศพยายามหาทางรับมือต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับพลังงานมีอย่างจำกัด โดยเฉพาะกรณีของเยอรมนีที่รัสเซียลดปริมาณน้ำมันและก๊าซที่เคยส่งให้  

โดย"โรเบิร์ต ฮาเบค" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนี ให้สัมภาษณ์นิตยสารแดร์ ชปีเกิล ถึงแนวทางในการประหยัดพลังงานทั่วประเทศให้ได้มากที่สุดก่อนถึงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากอย่างมากสำหรับชาวเยอรมันด้วยการแนะนำให้ประชาชนลดเวลาในการอาบน้ำ เพื่อรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้น

ฮาเบค บอกว่า เขาจะปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงเศรษฐกิจอย่างเคร่งครัด ด้วยการลดเวลาในการอาบน้ำลงให้เหลือสั้นที่สุด และหวังว่าประชาชนจะปฏิบัติตาม  พร้อมทั้งแนะนำด้วยว่าการไม่ใช้เครื่องทำความร้อนตามอพาร์ตเมนต์ต่างๆ จะช่วยเยอรมนีได้มาก เพื่อให้ผ่านพ้นความยากลำบากต่างๆ 
 

  รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เตือนด้วยว่า สถานการณ์เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง เนื่องจากบรรดาบริษัทพลังงานทั้งหลายกำลังปรับขึ้นราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เยอรมนีอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในเรื่องของวิกฤตก๊าซธรรมชาติ และในกรณีเลวร้ายที่สุด บริษัทต่างๆ อาจจำเป็นต้องหยุดการผลิต พนักงานจะถูกเลิกจ้าง ห่วงโซ่อุปทานจะล่มสลาย ประชาชนจะเป็นหนี้ค่าทำความร้อน ประชาชนจะยากจนลง และความผิดหวังจะปกคลุมทั่วประเทศ

คำเตือนของฮาเบคมีขึ้นหลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก๊าซพรอม รัฐวิสาหกิจพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ประกาศปรับลดปริมาณอุปทานก๊าซที่ส่งให้แก่เยอรมนี โดยอ้างว่ามาจากเหตุขัดข้องเรื่องปั๊มเทอร์ไบน์ หรือชุดปั๊มก๊าซของท่อลำเลียงนอร์ดสตรีม
 

 แต่ฮาเบค อ้างว่า รัสเซียปรับลดปริมาณก๊าซที่ป้อนแก่เยอรมนี ก็เพื่อปั่นราคาให้สูงขึ้นและหวังโหมกระพือความรู้สึกไม่มั่นคงและหวาดกลัวในหมู่ชาวเยอรมัน

ที่ผ่านมา ฮาเบค เคยแนะนำวิธีแปลกๆ แก่ประชาชนในการรับมือกับวิกฤตขาดแคลนพลังงานมาแล้ว โดยเมื่อเดือนเม.ย. เขาแนะนำให้ทำงานจากที่บ้าน หลีกเลี่ยงการขับขี่รถยนต์และหันมาปั่นจักรยานแทน

ด้านรัฐบาลปากีสถาน ก็ขอความร่วมมือประชาชนให้ดื่มชาน้อยลงเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เนื่องจากปากีสถาน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าชารายใหญ่สุดของโลกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อพุ่ง และการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของสกุลเงินรูปี

"อาห์ซาน อิกบาล" รัฐมนตรีฝ่ายวางแผนและพัฒนาของปากีสถานเปิดเผยในช่วงที่ผ่านมาว่า ชาวปากีสถานควรลดปริมาณการดื่มชาลงหนึ่งถึงสองถ้วยต่อวัน เนื่องจากการนำเข้าชาสร้างภาระทางการคลังเพิ่มเติมให้กับรัฐบาล

“ชาที่เรานำเข้ามานั้นต้องใช้เงินกู้ยืม” นายอิกบาลกล่าว พร้อมแนะนำว่าธุรกิจควรปิดให้บริการเร็วขึ้นเพื่อช่วยประหยัดไฟ

ข้อมูลจากหอสังเกตการณ์ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจของปากีสถาน ระบุว่า ปากีสถานมีประชากรประมาณ 220 ล้านคน เป็นผู้นำเข้าชารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยนำเข้าชาเป็นมูลค่ากว่า 640 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 แต่ปากีสถานต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาอาหาร ก๊าซ และน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเงินสำรองระหว่างประเทศที่ถือครองโดยธนาคารกลางลดลงจากระดับ 1.63 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อช่วงปลายเดือนก.พ. เหลือเพียง 1 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา

ด้านศรีรีลังกา บริษัทที่ผูกขาดการขายไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยรัฐของศรีลังกา ซึ่งกำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ประกาศขึ้นราคาค่าไฟมากถึง 835% สำหรับลูกค้าที่มีรายได้น้อย ซึ่งยิ่งซ้ำเติมการดิ้นรนเอาชีวิตรอดของชาวศรีลังกาที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจล่มสลายอยู่ก่อนหน้านี้

ในไตรมาสแรก คณะกรรมการการไฟฟ้าของศรีลังกา (ซีอีบี) สูญเสียเงินไป 6.5 หมื่นล้านรูปี จึงตัดสินใจขอขึ้นราคาสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยถึง 835% เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่ถึง 30 กิโลวัตต์ต่อเดือน จะต้องจ่ายค่าไฟ 54.27 รูปี หรือประมาณ 0.15 ดอลลาร์ ซึ่งซีอีบีพยายามจะขึ้นค่าไฟเพิ่มเป็น 507.65 รูปี หรือประมาณ 1.44 ดอลลาร์

“จานาคา รัตนยาเก” ประธานคณะกรรมการสาธารณูปโภคของศรีลังกา ยอมรับว่า ผู้บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ไม่สามารถรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากเช่นนี้ได้ จึงเสนอขอเงินอุดหนุนโดยตรงจากกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยให้ค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งจากตัวเลขที่ซีอีบีร้องขอ

นอกจากค่าไฟที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลแล้ว รัฐบาลศรีลังกายังประกาศยุติการขายเชื้อเพลิงทุกชนิดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เว้นแต่ในการให้บริการที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้มีผลทันทีตั้งแต่วันจันทร์(27 มิ.ย.)ที่ผ่านมา