ดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นในกรอบแคบ 69 จุด กังวลเศรษฐกิจถดถอย
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(6ก.ค.)ปรับตัวขึ้นในกรอบแคบเพียง 69 จุด เพราะถูกกดดันจากการที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐ และแบบจำลองคาดการณ์เศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่างก็ส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
นักลงทุนจับตากระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ซึ่งจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2 ในวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งจะเป็นการยืนยันภาวะเศรษฐกิจสหรัฐว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปีในเดือนมิ.ย. สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตที่ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 2 ปีเช่นกัน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 69.86 จุด หรือ 0.23% ปิดที่ 31,037.68 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 13.69 จุด หรือ 0.36% ปิดที่ 3,845.08 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 39.61 จุด หรือ 0.35% ปิดที่ 11,361.85 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ปิดตลาดวานนี้ปรับตัวลง 129.44 จุด หรือ 0.42% สู่ระดับ 30,967.82 จุด หลังจากทรุดตัวลง 700 จุดในการซื้อขายระหว่างวัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
ตลาดพันธบัตรสหรัฐยังคงเกิดภาวะ inverted yield curve ในวันนี้ ต่อเนื่องจากวานนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีดีดตัวสูงกว่าอายุ 5 ปีและ 10 ปี ท่ามกลางความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญภาวะถดถอยจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น
เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0%
ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% และแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันพรุ่งนี้
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรง
"เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ผมก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา" นายพาวเวล กล่าว
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดประจำวันที่ 14-15 มิ.ย.ในวันนี้ รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์นี้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่งในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าระดับ 390,000 ตำแหน่งในเดือนพ.ค. และคาดว่าอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6%