ดาวโจนส์ร่วง 142 จุดกังวลกำไรแบงก์วูบ-เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ดาวโจนส์ร่วง 142 จุดกังวลกำไรแบงก์วูบ-เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(14ก.ค.)ปรับตัวลง 142 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลประกอบการของธนาคารสหรัฐ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ลดลง 142.62 จุด หรือ 0.46% ปิดที่ 30,630.17 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 11.40 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 3,790.38 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 3.60 จุด หรือ 0.03% ปิดที่ 11,251.19 จุด

หุ้นทุกกลุ่มปรับตัวลงในวันนี้ นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานตามการทรุดตัวลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก เริ่มจากราคาหุ้นของเจพีมอร์แกน เชส และมอร์แกน สแตนลีย์ ต่างดิ่งลงในการซื้อขายวันนี้ หลังเปิดเผยว่าทางธนาคารมีกำไรลดลงในไตรมาส 2

นักวิเคราะห์เตือนก่อนหน้านี้ว่าธนาคารสหรัฐจะรายงานตัวเลขกำไรในไตรมาส 2 ที่น่าผิดหวัง เนื่องจากมีการเพิ่มการกันสำรองหนี้สูญ ท่ามกลางแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ กฎระเบียบที่มีการบังคับใช้ในเดือนม.ค.2563 กำหนดให้ธนาคารต่างๆจะต้องนำปัจจัยแนวโน้มเศรษฐกิจเข้ารวมในการพิจารณากันสำรองหนี้สูญ

นายเจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเจพีมอร์แกน เชสกล่าวเตือนในเดือนที่แล้วว่า สหรัฐกำลังเผชิญพายุเฮอร์ริเคนด้านเศรษฐกิจ ขณะที่นายเจมส์ กอร์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมอร์แกน สแตนลีย์ กล่าวว่า มีโอกาส 50% ที่สหรัฐจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ ซิตี้กรุ๊ป และเวลส์ ฟาร์โก จะรายงานผลประกอบการในวันพรุ่งนี้ ส่วนแบงก์ ออฟ อเมริกา และโกลด์แมน แซคส์ จะรายงานในวันจันทร์ที่ 18 ก.ค.

นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 1% ในเดือนนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนมิ.ย.

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังถูกกดดันจากการที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐเกิดภาวะ inverted yield curve โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นดีดตัวเหนือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ที่ผ่านมา ภาวะ inverted yield curve มักเกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรระยะสั้น และเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยนักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐ หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.2% ในไตรมาส 2 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.9%

ตัวเลขคาดการณ์ GDPNow บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาส 2 รุนแรงน้อยกว่าไตรมาส 1 ซึ่งหดตัว 1.6% แต่ก็แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้เข้าเกณฑ์การเกิดภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ขณะเดียวกัน นักลงทุนผิดหวังต่อการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจในวันนี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 9,000 ราย สู่ระดับ 244,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 234,000 ราย

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่สูงกว่าระดับ 230,000 รายเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน และสูงกว่า 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.8% หลังจากปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนพ.ค.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 11.3% หลังจากดีดตัวขึ้น 10.9% ในเดือนพ.ค.