จับสัญญาณสงครามการค้ารอบใหม่จากปมประธานสภาสหรัฐเยือนไต้หวัน
การซ้อมรบของจีนรอบๆ ไต้หวันเพื่อตอบโต้ที่แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐแวะมาเยือนเมื่อคืนวันอังคาร (2 ส.ค.) ถือเป็นการกระทำที่คาดหมายได้ แต่นอกเหนือจากนั้นคือการทำสงครามการค้าที่จีนไม่ได้นิ่งเฉยออกอาวุธด้านนี้ด้วยเช่นกัน
เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เพโลซียังไม่มาด้วยซ้ำ แต่จีนปรามไว้ก่อนด้วยการระงับการนำเข้าบิสกิตและขนมอบจากผู้ส่งออกไต้หวัน 35 ราย
สำนักข่าวกลางของทางการไต้หวันรายงานในวันที่ 2 ส.ค. ว่า บริษัทไต้หวัน 3,200 แห่งที่จดทะเบียนกับกรมศุลกากรจีนในหมวดอาหารถูก “ระงับนำเข้า” 2,066 บริษัท และบริษัท 107 รายที่จดทะเบียนในหมวดบิสกิต, ขนมอบ และขนมปัง ถูก “ระงับนำเข้า” 35 ราย
กระสุนการค้านัดแรกที่จีนยิงใส่ไต้หวันเกิดขึ้นตอนที่โลกยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เพโลซีจะไปไต้หวันจริงหรือไม่ เมื่อคำสั่งห้ามนำเข้าออกมานักวิเคราะห์หลายคนมั่นใจว่า เพโลซีต้องไปไต้หวันแน่ๆ
ความสำคัญของจีนต่อไต้หวัน
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่เหนือกว่าสหรัฐมาก นับถึงขณะนี้จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไต้หวัน บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของไต้หวัน เช่น ไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง (ทีเอสเอ็มซี) ผู้ผลิตชิพรายใหญ่สุดของโลกมีโรงงานหลายแห่งในจีนแผ่นดินใหญ่
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานอ้างข้อมูลทางการจากบริษัทข้อมูลการเงิน Wind Information ว่า ปี 2564 ไต้หวันส่งออกมายังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง 42% ส่งออกไปสหรัฐ 15%
กระทรวงการคลังไต้หวัน รายงานว่า ปี 2564 ไต้หวันส่งออกสินค้าไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง มูลค่า 1.88 แสนล้านดอลลาร์ กว่าครึ่งเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคืออุปกรณ์เกี่ยวกับสายตาแม้แต่กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไต้หวันก็ส่งออกมากกว่าสหรัฐ มูลค่า 7.02 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับการส่งออกไปสหรัฐ 6.57 หมื่นล้านดอลลาร์
จีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่สุดจากไต้หวันครองสัดส่วน 22% สหรัฐครองสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งยังน้อยกว่าญี่ปุ่น ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไต้หวันซื้อสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มมากขึ้น และจีนก็ทำเช่นเดียวกัน
ห้าปีที่ผ่านมาไต้หวันนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่พุ่งขึ้นราว 87% เทียบกับ 44% ที่นำเข้าเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ
ระหว่างปี 2559-2564 ไต้หวันส่งออกไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น 71% แต่ส่งออกไปยังสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขยายตัว 97% ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐระบุ สินค้าที่สหรัฐซื้อมากที่สุด เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า ยานยนต์ พลาสติกและเหล็ก และสินค้าเหล็ก
บริษัทไต้หวันหลายแห่ง เช่น ฟอกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์แอ๊ปเปิ้ลมีโรงงานอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่
ปี 2564 ธุรกิจไต้หวันทำเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์จากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกสหรัฐ
อีกหนึ่งสัญญาณที่ชวนให้คิดว่านี่คือการตอบโต้ทางการค้าจากจีน ตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันอังคารตามเวลาสหรัฐว่า ซีเอทีแอล ผู้ผลิตแบตเตอรีรายใหญ่สุดของโลกสัญชาติจีน ชะลอการตัดสินใจแผนตั้งโรงงานในอเมริกาเหนือหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐไปเยือนไต้หวัน โดยระบุว่า จะประกาศแผนในเดือน ก.ย.และ ต.ค.
วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานในวันรุ่งขึ้นว่า ก่อนการเยือนของเพโลซีที่จีนมองว่าเป็นการยั่วยุ ซีเอทีแอลมีแผนประกาศแผนการลงทุนในเดือนนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ติดตามประเด็นนี้และไม่อาจยืนยันได้ว่า ซีเอทีแอลเลื่อนการประกาศแผนการลงทุนที่ทุกคนรอคอยมานานจริงหรือไม่ ผลจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน ซีเอทีแอลไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในที่รู้แผนการบริษัทเผยกับรอยเตอร์ว่า ซีเอทีแอลไม่ได้เปลี่ยนแผนเริ่มการผลิตแบตเตอรีในอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี 2569 คาดว่าเพื่อจัดหาแบตเตอรีรถอีวีให้กับฟอร์ด, บีเอ็มดับเบิลยู และผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นรวมถึงเทสลา
สงครามการค้าคืออะไร
ข้อมูลจากยาฮูไฟแนนซ์ระบุ สงครามการค้าหรือเทรดวอร์ หมายถึง ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เห็นได้จากการขึ้นภาษีและการกระทำเพื่อกีดกันทางการค้าอื่นๆ
สงครามการค้าเกิดขึ้นเมื่อประเทศหนึ่งประกาศเก็บภาษีหรือข้อจำกัดการนำเข้า หรือกำหนดโควตาการนำเข้าจากอีกประเทศหนึ่ง ส่งผลให้ประเทศนั้นประกาศเก็บภาษีหรือข้อจำกัดการนำเข้า หรือกำหนดโควตาการนำเข้าตอบโต้บ้าง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
เทรดวอร์อันลือลั่นเมื่อเร็วๆ นี้คือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน เมื่อปี 2561 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศแผนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรวมแล้วกว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์ จีนเก็บภาษีตอบโต้กว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์
ตรวจสภาพเศรษฐกิจจีน-สหรัฐ
ในไตรมาสสองจีดีพีจีนขยายตัวเพียง 0.4% ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 5.5% ที่รัฐบาลจีนตั้งเอาไว้ อีกทั้งยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1%
เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอตัวลงดังข้างต้น เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ มีการล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญอย่าง เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง เป็นผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงักนานถึงสองเดือน อีกทั้งผลกระทบไม่ได้มีแค่จีน แต่ยังทำให้ขาดแคลนอุปทานในหลายพื้นที่ของโลก นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักให้ระดับเงินเฟ้อสูงขึ้นทั้งในสหรัฐและอียู
นอกจากนั้น โกลด์แมน แซคส์ยังได้ปรับลดตัวเลขจีดีพีคาดการณ์ของเศรษฐกิจจีน ปี 2565 ลงมาอยู่ที่ระดับ 4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 5.5%
อีกปัจจัยที่ต้องจับตาสำหรับเศรษฐกิจจีนคือ วิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ เริ่มต้นจากวิกฤติหนี้ของ “เอเวอร์แกรนด์” บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่อันดับสองของจีนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการควบคุมระดับหนี้ของรัฐบาล เนื่องจากเอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินรวมทั้งหมดราว 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 2% ของขนาดเศรษฐกิจจีน และยังมีหนี้ระยะสั้นด้วยสัดส่วน 42% ของหนี้สินรวม ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในภาคอสังหาฯ อีกทั้งในปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาฯ มีการเติบโตอย่างชะลอตัว จากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 เป็นผลให้รายได้บริษัทอสังหาฯ รวมถึงเอเวอร์แกรนด์ย่ำแย่ลง
ปีนี้วิกฤติเสี่ยงลุกลามขึ้นอีกผลจากการระงับการดำเนินโครงการอสังหาฯ บางโครงการนั้น มีผลให้ประชาชนไม่ต่ำกว่าล้านคนต้องแบกภาระหนี้ไปกับบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทำให้ในปลายเดือนมิ.ย. มีการออกมาประท้วงไม่จ่ายหนี้สำหรับผ่อนบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ ส่งผลกระทบต่อโครงการอสังหาฯ อย่างน้อย 301 โครงการ จาก 91 เมืองทั่วประเทศ
เศรษฐกิจสหรัฐเองก็ไม่ได้สวยงามตัวเลขจีดีพีไตรมาสสองของสหรัฐติดลบต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรกบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค(Technical Recession) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ยังคงทุบสถิติในรอบ 40 ปีอีกครั้ง ด้วยตัวเลข 9.1% จึงมีการคาดกันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงอีก
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจแล้วทั้งสองประเทศยังมีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาผสมโรงด้วย สหรัฐจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือน พ.ย. จีนจะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ราวเดือน ต.ค.หรือ พ.ย. การทำสงครามการค้าที่จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไม่ใช่จังหวะก้าวที่ดีของทั้งคู่ เพราะแค่การระบาดของโควิด-19 และสงครามของรัสเซียในยูเครนก็ทำให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งและสองของโลกเจ็บหนักพอๆ กัน ประเด็นเพโลซีเยือนไต้หวันจึงเป็นการตอบโต้กันเชิงสัญลักษณ์พอหอมปากหอมคอมากกว่า