'รถไฟความเร็วสูง'โครงสร้างพื้นฐานที่อาเซียนต้องมี

'รถไฟความเร็วสูง'โครงสร้างพื้นฐานที่อาเซียนต้องมี

หลายประเทศในอาเซียนเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมต่างๆ ล่าสุด รถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงนั้น จีนเริ่มทยอยส่งมอบตัวรถไฟความเร็วสูงให้อินโดนีเซียภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสแรกของอินโดนีเซีย ที่จะเป็นเส้นทางระหว่างเมืองหลวงคือกรุงจาการ์ตา และเมืองบันดุง มีความคืบหน้าไปมาก โดยจีนได้เริ่มทยอยส่งตัวรถไฟและระบบฯ ให้อินโดนีเซียทางเรือ คาดว่าจะถึงภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้

สำนักข่าวซินหัว รายงานความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าโดยสารความเร็วสูงเฟสแรกของอินโดนีเซีย ว่า พันธมิตรโครงการ คือจีน เริ่มจัดส่งรถไฟฟ้าความเร็วสูงนี้ให้อินโดนีเซียแล้ว ซึ่งรวมถึงระบบตรวจสอบรถไฟที่ผลิตสำหรับทาง รถไฟความเร็วสูง เส้นทางวิ่งระหว่าง เมืองจาร์กาตา-บันดุง โดยสินค้าเดินทางออกจากท่าเรือชิงเต่า มณฑลซานตงทางภาคตะวันออกของประเทศจีน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 ส.ค.)

สื่อใหญ่ของจีนรายงานว่า บริษัทซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซื่อฟาง โค จำกัด เป็นผู้ออกแบบและผลิตรถไฟนี้ เพื่อใช้ในโครงการสำคัญภายใต้ความริเริ่มสายแถบและเส้นทาง(บีอาร์ไอ)ของจีนที่รู้จักกันในนาม “เส้นทางสายไหมยุคใหม่”

รถไฟชุดแรกมีกำหนดเดินทางถึงกรุงจาการ์ตาภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ จากนั้นจีนจะจัดส่งรถไฟส่วนที่เหลือโดยแบ่งออกเป็นชุด ๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นปีหน้า

การใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยของรถไฟหัวกระสุนฟู่ซิง ทำให้รถไฟนี้มีความเร็วในการเดินรถสูงสุด 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้รับการออกแบบและผลิตตามมาตรฐานจีน และประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมการดำเนินงานระดับท้องถิ่นและสอดคล้องกับเงื่อนไขต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย รวมถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น

สำหรับข้อมูลของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะวิ่งระหว่างเมืองจาการ์ตา-เมืองบันดุง มีระยะทางทั้งสิ้น 142 กิโลเมตร เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงจาการ์ตา เมืองหลวง และเมืองบันดุง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดังของอินโดนีเซีย

เป็นที่คาดการณ์กันว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมิ.ย.ปีหน้า เมื่อเปิดใช้บริการ จะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างทั้งสองเมืองจากเดิมกว่า 3 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 40 นาที ส่วนขบวนรถสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 601 คน มีตู้รถเฟิร์สต์คลาส 1 ตู้ ตู้สเบียงอาหาร 1 ตู้ และตู้โดยสารชั้นสอง 6 ตู้
 

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ของอินโดนีเซีย มีขึ้่นหลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ในเดือนหน้า กระทรวงคมนาคมเวียดนาม จะยื่นข้อเสนอสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 1,545 กิโลเมตร เชื่อมภาคเหนือถึงภาคใต้ แก่คณะกรรมการโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ

เวียดนาม ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาค กำลังเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

รัฐบาลเวียดนาม ระบุว่า ทางรถไฟความเร็วสูงสองเฟสแรกมีความยาวรวมกัน 665 กิโลเมตร ใช้เงินลงทนุทั้งหมด 24,700 ล้านดอลลาร์ ทางการเวียดนามวางแผนเปิดให้บริการในปี 2575 และโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปี 2588-2593

การเร่งพัฒนารถไฟความเร็วสูงของเวียดนาม มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามตั้งเป้าว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัว 7% สูงกว่าเป้าที่ทางการกำหนดไว้เดิม 6.0-6.5%

“เหวียน ชีดุ่ง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและลงทุนของเวียดนาม เผยว่า เพื่อให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้ตามที่ตั้งใจไว้ ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาส 3 จำเป็นต้องขยายตัวให้ได้ 9% และไตรมาส 4 ต้องขยายตัวให้ได้ 6.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเนื่องจากเวียดนามเกินดุลงบประมาณ จึงมีโอกาสใช้นโยบายการคลังสนับสนุนภาคธุรกิจ และประชาชนได้

“สถาบันสินเชื่อจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเงินกู้ต่อไป เพื่อลดแรงกดดันต้นทุนสำหรับภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและลงทุนของเวียดนาม กล่าว

เวียดนาม ซึ่งศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค เริ่มยกเลิกมาตรการคุมโควิดเมื่อปลายปี 2564 พร้อมทั้งอนุญาตให้โรงงานกลับมาผลิตได้อย่างเต็มที่อีกครั้งหนึ่ง และเศรษฐกิจของเวียดนามก็กำลังฟื้นตัวหลังจากปี 2564 แต่ขยายตัวแค่ 2.58% ต่ำสุดในรอบหลายสิบปี

ในไตรมาส 2 เวียดนามรายงานจีดีพีขยายตัว 7.72% ผลจากการส่งออกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ก็เจอแรงกดดันเงินเฟ้อขาขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วยเหมือนกัน