นายกฯใหม่อังกฤษ & กลไกประชาธิปไตยแบบผู้ดี | กันต์ เอี่ยมอินทรา
อีกไม่เกินสัปดาห์จากนี้ เราน่าจะได้เห็นโฉมหน้าของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร หลังจากที่ บอริส จอห์นสัน ประกาศก้าวลงจากตำแหน่งตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
จริง ๆ แล้ว อังกฤษถือเป็นประเทศแม่แบบประชาธิปไตยและไทยก็มีระบอบการเมืองการปกครองที่คล้ายคลึงกับอังกฤษมากที่สุดในทางทฤษฎี เราปกครองด้วยรัฐสภาโดยมาจากการเลือกตั้ง เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขซึ่งมีหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ และเราก็มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเหมือนกัน ข้อแตกต่างคือ ส.ว.ของอังกฤษนั้นไม่ได้มีอำนาจมากล้นเท่าของไทยที่จะมีสิทธิมีเสียงมาเลือกนายกฯได้
อำนาจที่มากล้นย่อมนำมาสู่การฉ้อฉลคือหลักการเบื้องต้นในการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจ เช่นเดียวกับหลักจริยธรรมและพลังประชาสังคมที่ถือเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงประชาธิปไตยเต็มใบ
กรณีของอังกฤษนั้นเมื่อหัวหน้ารัฐบาลหมดความชอบธรรมจากกรณีการทำผิดกฎหมาย ภายใต้การกดดันจากประชาชนและสื่อ จึงเป็นหน้าที่ของ ส.ส. ที่จะจัดการตามกลไกเครื่องมือตามระบบระบอบประชาธิปไตยที่มี โดยปราศจากเครื่องมือหรืออำนาจพิเศษที่มองไม่เห็นและเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย
เช่นเดียวกับรัฐสภาในไทยที่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯได้ แต่ที่อังกฤษยังมีเครื่องมือพิเศษที่เป็นธรรมเนียมของผู้ดี นั่นคือการกดดันผ่านการลาออก จากประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ บอริสคือนายกฯที่มีผู้ประท้วงผ่านการลาออกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งระดับรัฐมนตรี จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐสภารวมมากกว่า 60 ราย
กลไกการลาออกนี้แท้จริงคือสัญญาณที่แจ้งบอกหัวหน้าพรรคว่า สมาชิกในพรรคนั้นพร้อมดำเนินการโดยอาศัยกลไกของพรรคที่จะเลือกหัวหน้าพรรคใหม่ ซึ่งหากกระบวนการนั้นเกิดขึ้นและสิ้นสุดจริง นายกฯก็จำต้องหลุดจากตำแหน่งโดยปริยาย
การลาออกจึงดูเหมือนเป็นทางออกที่ดีที่สุดและก็เป็นทางเลือกที่นายกฯหลายคนใช้หลังจากพ่ายแพ้ต่อดุลอำนาจใหม่ภายในพรรค อาทิ นายกฯคนก่อนอย่าง เทเรซา เมย์ ซึ่งก็โดนบอริสจัดการ เช่นเดียวกับคนก่อนหน้าอย่าง เดวิด คาเมรอน ซึ่งลาออกหลังจากพ่ายแพ้จากการรณรงค์เรื่องการออกจากประชาคมยุโรป (Brexit)
คำถามที่น่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้น “แล้วใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯแทนบอริส” ซึ่งคำตอบจะอยู่ในมือของสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมทั้งที่เป็น ส.ส. และประชาชนคนธรรมดาจำนวนกว่า 160,000 คน
เพราะการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯใหม่นั้น จำต้องได้รับการรับรองจาก ส.ส. จำนวนอย่างน้อย 30 คน จึงทำให้มีรายชื่อจำนวนหนึ่งออกมาแข่งขัน ทำนโยบายที่ตอบสนองประชาชน
กระบวนการคัดเลือกก็แสนจะง่ายดาย โดยแข่งกันเป็นรอบ ๆ ผู้ที่ได้คะแนนน้อยที่สุดในแต่ละรอบจะตกไป จนกระทั่งเหลือผู้ที่คะแนนมากที่สุดในรอบ 2 คนสุดท้าย ได้แก่ ลิซ ทรัสส์ อดีตรมว.ต่างประเทศ และ ริชี ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลัง
แคนดิเดตทั้งสองถือว่ามีความน่าสนใจมาก นอกเหนือจากที่ต่างเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของชนชั้นนำ อาทิ มาจากครอบครัวที่ฐานะปานกลางค่อนไปทางสูง จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีโปรไฟล์ด้านการทำงานภาคธุรกิจก่อนกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองจนกระทั่งรุ่งโรจน์ไต่ขึ้นถึงระดับรัฐมนตรี
หากทรัสส์ได้รับเลือกจะถือเป็นสตรีคนที่ 3 ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯสหราชอาณาจักร ขณะที่ตัวเลือกที่น่าตื่นเต้นอย่างซูนัคนั้นจะถือเป็นนายกฯคนแรกของประเทศที่ไม่ใช่คนผิวขาว แถมตัวเองยังเป็นเศรษฐีและเป็นลูกเขยมหาเศรษฐี N. R. Narayana Murthy ที่มีทรัพย์สินกว่า 4,400 ล้านดอลลาร์