อินเดียประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินสร้างเองลำแรก
อินเดียทำพิธีขึ้นระวางประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินที่ผลิตเองในประเทศลำแรกในวันนี้ (2 ก.ย.) หลังใช้เวลาสร้างและทดสอบนาน 17 ปี
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทำพิธีขึ้นระวางประจำการเรือบรรทุกเครื่องบิน ไอเอ็นเอส วิกรันต์ ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง และเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ออกแบบและผลิตเองภายในประเทศลำแรก รวมทั้งเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดที่ต่อขึ้นเองภายในอู่ต่อเรือของทางการ
เขากล่าวว่า “วันนี้อินเดียได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถผลิตเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง” นอกจากนี้เขาบอกว่า “แสนยานุภาพของกองทัพเรืออินเดียขยายกำลังมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะแข็งแกร่งยากยิ่งขึ้นในอนาคต”
เรือไอเอ็นเอส วิกรันต์ ถูกออกแบบให้รองรับลูกเรือได้เกือบ 1,600 คนและบรรทุกอากาศยานได้ 30 ลำ ซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่มิก-29 ที่ผลิตโดยรัสเซียและใช้งานในเรือบรรทุกเครื่องบิน ไอเอ็นเอส วิกรมอทิตยา ที่อินเดียซื้อต่อมาจากรัสเซียอยู่แล้ว
เรือลำนี้ใช้งบในการต่อเรือ 2 แสนล้านรูปี หรือ 92,000 ล้านบาท มีน้ำหนักมากถึง 45,000 ตัน ยาว 262 เมตร และกว้าง 62 เมตร ดาดฟ้าเรือมีพื้นที่กว้างเกือบ 12,000 ตารางเมตร ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินขับไล่ 12 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 6 ลำขึ้นลงพร้อมกันได้
ขณะที่มีรายงานว่า กองทัพเรืออินเดียกำลังพิจารณาต่อเรือบรรทุกเครื่องบินเองลำที่สอง ซึ่งยังอยู่ในขั้นวางแนวคิด แต่มีการคาดการณ์กันว่า เรือลำใหม่อาจมีน้ำหนักมากขึ้นเป็น 65,000 ตัน และมีขนาดเทียบเท่าเรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ ของอังกฤษ และเรือบรรทุกเครื่องบิน “ซานตง” ของจีน