ส่องสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกหลัง‘ไบเดนฟันธงสหรัฐไร้การระบาด
ส่องสถานการณ์โควิดทั่วโลกหลัง‘ไบเดนฟันธงสหรัฐไร้การระบาด โดยทางการสหรัฐได้ยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนการท่องเที่ยวได้กลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนกับช่วงที่ก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคนี้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวในโอกาสให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 18ก.ย.ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐได้สิ้นสุดลงแล้ว และขณะนี้ ทางการสหรัฐได้ยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนการท่องเที่ยวได้กลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนกับช่วงที่ก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคนี้
ไบเดน กล่าวว่า “ช่วงของการแพร่ระบาดได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่โรคโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาสำหรับเรา เรายังคงทำงานอย่างหนักต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่ช่วงของการแพร่ระบาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ตอนนี้ไม่มีใครใส่หน้ากากอนามัยอีกแล้ว ทุกคนยังมีสุขภาพที่ดี ด้วยเหตุนี้เขาจึงคิดว่าสถานการณ์เปลี่ยนไปจากช่วงของการแพร่ระบาดแล้ว
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของไบเดนมีขึ้นไม่กี่อาทิตย์หลังจากที่คณะทำงานของเขายื่นของบประมาณจากสภาคองเกรสหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการวัคซีนโควิด และการตรวจหาเชื้อโควิด ถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 จะมีแนวโน้มลดลง
ด้าน Worldometer เว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุวานนี้ (20ก.ย.)ว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมทั่วโลกมีจำนวน 617,386,534 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ระดับ 6,531,211 ราย โดย สหรัฐ มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก จำนวน 97,509,436 ราย รองลงมาคืออินเดียมีจำนวน 44,539,046 ราย
ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 34 ล้านราย คือ ฝรั่งเศส และบราซิลส่วนประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 32 ล้านราย ได้แก่ เยอรมนี ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 24 ล้านราย ได้แก่ เกาหลีใต้ ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 23 ล้านราย ได้แก่ สหราชอาณาจักร ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 22 ล้านราย ได้แก่ อิตาลี ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 20 ล้านราย ได้แก่ ญี่ปุ่น รัสเซีย ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 16 ล้านราย ได้แก่ ตุรกี ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 13 ล้านราย ได้แก่ สเปน
ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 11 ล้านราย ได้แก่ เวียดนาม และประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ล้านราย ได้แก่ ออสเตรเลีย
นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลกคือมีจำนวน 1,078,663 ราย ตามมาด้วยบราซิล จำนวน 685,422 ราย และอินเดีย จำนวน 528,355 ราย
ส่วนในภูมิภาคอาเซียน กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย เปิดเผยในวันอังคารว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 1,620 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 6,410,426 ราย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นรองก็แต่เวียดนาม
ขณะนี้ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย ส่วนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 23 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 157,915 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในอาเซียน
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามเปิดเผยว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 1,778 ราย ส่งผลให้เวียดนามมียอดสะสมผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ 11,460,227 ราย สูงสุดในอาเซียน ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ระดับ 43,141 ราย
ผลสำรวจล่าสุด ระบุว่า ในช่วงสองปีแรกของการระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ที่ทำงานจากบ้านในสหรัฐ เพิ่มขึ้นสามเท่า ราคาบ้านพุ่งสูงขึ้น และชาวอเมริกันต้องควักเงินจ่ายค่าเช่าบ้านมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ผลสำรวจชิ้นนี้ ซึ่งเป็นรายงานข้อมูลเชิงเจาะลึกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโรคระบาด ประมาณการว่าเมื่อปี 2564 ผู้ที่ใช้ชีวิตคู่โดยยังไม่แต่งงานกันเพิ่มสูงขึ้น ผู้คนพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากขึ้น และผู้ที่ระบุว่าตนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน มีผู้ย้ายที่อยู่น้อยลง มีเด็ก ๆ ลงทะเบียนก่อนวัยเรียนน้อยลง และมีผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะน้อยลงครึ่งหนึ่ง
ผลสำรวจชิ้นนี้สะท้อนถึงสถานการณ์ในสหรัฐยุคโควิด-19 ที่เชื่อถือได้มากที่สุด เนื่องจากผลสำรวจเมื่อปี 2563 ถูกมองว่าไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะมีปัญหาในการตอบแบบสอบถามในช่วงเดือนแรก ๆ ของการระบาด ทำให้ข้อมูลในสหรัฐว่างเว้นไปหนึ่งปี โดยยอดตอบแบบสอบถามในปี 2564 สูงกว่าในปี 2563 มาก
ผลสำรวจดังกล่าวมักสำรวจประชากรจาก 3.5 ล้านครัวเรือน เพื่อรวบรวมการประมาณการด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเวลาที่ใช้เดินทาง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ชีวิตครอบครัว รายได้ ระดับการศึกษา ความพิการ การรับราชการทหาร และการจ้างงาน โดยข้อมูลนี้จะช่วยกำหนดการใช้จ่ายภาครัฐมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์แก่ภาคส่วนต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า ผู้ที่ทำงานในภาคศิลปะ การบันเทิง และโรงแรม ลดลงจาก 9.7% เหลือ 8.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบันเทิงและร้านอาหารในช่วงการระบาดของโควิด ขณะที่จำนวนผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยังมีจำนวนเท่าเดิม และมีผู้ที่เป็นนายจ้างตัวเองเพิ่มขึ้นเป็น 6.1% จากเดิม 5.8%
ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยจำนวนบ้านที่ไม่มีผู้อาศัยลดลงจาก 12.1% เหลือ 10.3% ขณะที่ราคาบ้านเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 240,500 ดอลลาร์ เป็น 281,400 ดอลลาร์ ส่วนสัดส่วนของผู้ที่จ่ายค่าเช่าบ้านมากกว่า 30% ของรายได้ เพิ่มขึ้นจาก 48.5% เป็น 51% ซึ่งปกติแล้ว ผู้ที่จ่ายค่าเช่าบ้านเกินสัดส่วนดังกล่าว จะเข้าข่ายเป็นผู้ที่มีภาระค่าเช่าบ้าน