"ดอน" โชว์วิสัยทัศน์ยูเอ็น ร่วมวงแก้วิกฤตการณ์โลก
"รองนายกฯดอน" กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 77 ยืนยันความร่วมมือพหุภาคี ช่วยแก้วิกฤตการณ์โลก การขาดแคลนอาหาร พลังงาน ความขัดแย้งในภูมิภาค นำไปสู่ความมั่นคงของมนุษย์
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงไทยในการประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติ (UNGA) ครั้งที่ 77 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ โดยได้ย้ำความสำคัญความร่วมมือพหุภาคีแก้ไขวิกฤติโลก จากมนุษย์และธรรมชาติ ทั้งวิกฤติอาหาร โรคระบาด ภูมิอากาศ ความขัดแย้ง ตลอดผลักดันห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปิดกว้าง มุ่งหน้าหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า เร่งขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ในการถ้อยแถลงของนายดอน มีใจความตอนหนึ่งว่า ขอให้มั่นใจว่า ไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของท่านอย่างเต็มที่ในการดำเนินภารกิจที่สำคัญให้สำเร็จ เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ทั้งสำหรับประชาคมระหว่างประเทศและสหประชาชาติเราอยู่ในจุดที่การตัดสินใจและการกระทำของเราจะส่งผลต่อโลกและต่อมนุษยชาติในอนาคตข้างหน้า โดยเราต้องดำเนินการร่วมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมและการเคารพซึ่งกันและกัน
"โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ในระหว่างที่กำลังพยายามฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เรากำลังเห็นความขัดแย้งใหม่ ๆ นอกเหนือจากความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในระดับระหว่างประเทศ เรากำลังเผชิญกับวิกฤติด้านอาหาร พลังงาน และการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงที่สุดต่อผู้ที่มีความเปราะบางมากที่สุด ได้แก่ ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (SIDS) และกลุ่มเปราะบาง อาทิ สตรี เด็กหญิง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันในเวลานี้เพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายนี้"
วิกฤติอาหารส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ไทยในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก ก็ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารสัตว์ ปุ๋ย และอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารโลกเหล่านี้เป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างไม่เท่าเทียมกัน
เราจะสามารถเร่งสร้างความคืบหน้าของการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เมื่อเรามีความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางสาธารณสุขที่ดีขึ้น ในการนี้ การดำเนินงานที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนจึงเป็นแนวทางในการสร้างหลักประกันต่อสิทธิและความต้องการขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะสิทธิและความต้องการของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่สุด ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตในอนาคต ในแง่นี้ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเป็นทั้งหนทางและเป้าหมายสูงสุดเพื่อความอยู่รอดของประชาชนในปัจจุบันและชนรุ่นหลัง
การเดินทางมาร่วมประชุมครั้งนี้ นายดอนยังได้นำเสนอชื่อผู้แทนไทยในการสมัครคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ของไทย อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังนายดอนกล่าวถ้อยแถลง ได้พบกับนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น พร้อมกระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิด ระหว่างไทย - ยูเอ็น นอกจากนี้ ทั้งสองยังได้หารือสถานการณ์ในเมียนมา ขณะเดียวกัน นายดอนได้นำเสนอว่า การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปี 2565 รวมทั้งการประชุมสำคัญๆ ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปลายปีนี้ อย่าง การประชุมอาเซียนที่กัมพูชา และการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย จะเป็นโอกาสหารือทางออกวิกฤติยูเครน ที่จะสามารถร่วมมือกับยูเอ็ย มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อเกื้อหนุนระบบพหุภาคีผลักดันวาระสำคัญของโลก อย่างเช่นการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 27