รอดเพราะยอมรับและปรับตัว | ดร.ไสว บุญมา
ลมพายุ“เอียน”ถล่มรัฐฟลอริดาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสร้างความเสียหายมหาศาล ท่ามกลางข่าวร้ายเกี่ยวกับความเสียหายนั้น มีข่าวดีเกี่ยวกับเมืองที่แทบไม่เสียหายแม้จะอยู่ในกลางทางผ่านของพายุนั้นก็ตาม
พายุเอียนพัดมาจากทะเลทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ เข้ารัฐฟลอริดาด้วยความแรงของลมเกิน 200 กม. ต่อชั่วโมงแล้วพัดเลยไปออกทะเลทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังแรงของลมและความสูงของคลื่นพายุจากน้ำทะเลทำลายเกือบทุกสิ่งทุกอย่างตามทางที่พายุพัดผ่านในย่านริมทะเล โดยเฉพาะเมือง “ฟอร์ตมายเออร์” ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพายุเคลื่อนขึ้นฝั่ง
การผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าพร้อมกับระบบสาธารณูปโภคถูกทำลายไปเกือบหมด เรือเพื่อใช้ในการสันทนาการจำพวกตกปลาถูกพัดพาจากทะเลขึ้นบกไปทิ้งไว้ในย่านที่มีอาคารบ้านเรือน
ในขณะที่เขียนบทความนี้ มีรายงานว่าได้พบศพแล้วกว่า 100 ศพ เจ้าหน้าที่กู้ภัยคาดว่า น่าจะมีศพที่พวกเขายังไม่พบอีกจำนวนหนึ่ง ภาครัฐเข้าไปช่วยประชาชนอย่างเต็มกำลัง แต่ยังคาดไม่ได้ว่าอีกนานเท่าไรภาวะปกติจะคืนมา แน่นอนว่า พื้นที่ตามชายทะเลบางส่วนจะรื้อฟื้นให้กลับคืนมาไม่ได้
ข่าวดีท่ามกลางข่าวร้ายของความเสียหายร้ายแรงนั้นมาจากเมืองสร้างใหม่ชื่อ “แบบคอกค์” ซึ่งอยู่ห่างจากฟอร์ตมายเออร์เพียง 20 กม. และถูกพายุเต็มกำลังเช่นกัน
เป็นความโชคดีที่เมืองใหม่นี้มิได้ตั้งอยู่ริมทะเล และที่น่าจะสำคัญกว่านั้นมากคือ การออกแบบก่อสร้างให้สามารถรับแรงถล่มของพายุร้ายเช่นเอียนได้
เมืองนี้เพิ่งเริ่มก่อสร้างโดยมีผู้อพยพเข้าไปอยู่เป็นครอบครัวแรกเมื่อปี 2561 ณ วันนี้ เมืองแบบคอกค์มีผู้เข้าไปอยู่แล้วกว่า 2,000 หลังคาเรือน
เนื่องจากรัฐฟลอริดาถูกพายุใหญ่ถล่มบ่อยขึ้นและแนวโน้มบ่งว่าพายุแต่ละลูกจะร้ายแรงขึ้นสืบเนื่องจากภาวะโลกร้อน ผู้สร้างเมืองแบบคอกค์ซึ่งเป็นเอกชนจึงนำปัจจัยเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณาในการออกแบบและก่อสร้างเมืองยังผลให้ไม่ได้รับความเสียหายมากจากพายุเอียน
แม้หลังคาบ้านบางหลังจะเปิดและต้นไม้ปลูกใหม่หลายต้นจะล้ม แต่น้ำไม่ท่วมและระบบไฟฟ้ากับสาธารณูปโภคไม่ได้รับความเสียหาย เป็นการพิสูจน์ว่าการออกแบบและการก่อสร้างประสบความสำเร็จ
องค์ประกอบที่โดดเด่นของเมืองใหม่นี้มีหลายอย่าง รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงแดดทั้งหมด ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเป็นแบบท่อใต้ดิน
ระบบการระบายน้ำสามารถรับน้ำฝนปริมาณมากและระบายออกไปได้โดยไม่ท่วมอาคารบ้านเรือน ตัวอาคารแข็งแกร่งพอสำหรับรับพายุร้ายแรงในระดับสูงสุด หรือระดับ 5 ซึ่งมีลมแรงกว่า 250 กม. ต่อชั่วโมงขึ้นไป
นอกจากการออกแบบและการก่อสร้างแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ หัวจักรใหญ่ของการสร้างเมืองแบบคอกค์เป็นอดีตนักฟุตบอลอเมริกัน คงทราบกันดีว่า กีฬานั้นมักใช้ผู้เล่นร่างใหญ่ซึ่งใช้แรงปะทะนำหน้า
แต่อดีตนักฟุตบอลที่อ้างถึงดูจะไม่คิดบนฐานของการเอาชนะด้วยการปะทะแม้แต่น้อย ตรงข้าม เขายอมรับผลการวิจัยของนักวิชาการซึ่งชาวอเมริกันบางส่วนยังไม่ยอมรับว่าผิวโลกกำลังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้พายุเกิดบ่อยขึ้นและร้ายแรงขึ้น
บนฐานของการยอมรับนั้น เขาปรับกิจการสร้างบ้านและเมืองใหม่ให้อยู่รอดได้เมื่อวันคับขันมาถึง
เมืองแบบคอกค์สร้างบทเรียนที่หลายฝ่ายสนใจทั้งจากมุมมองของแนวคิดพื้นฐานและมุมมองของการออกแบบและการก่อสร้าง ในระดับหนึ่ง บทเรียนน่าจะเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้ว
เช่น ผลงานทางวิชาการที่ได้รักการยืนยันอย่างกว้างขวางมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต การปรับตัวให้เหมาะสมเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงรอบด้านสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอด การปรับตัวต้องเป็นแบบจริงจัง มิใช่แบบมักง่าย ขอไปที หรือเพียงสร้างภาพและเปล่งวาทกรรมอันงามหรู
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คอลัมน์นี้พูดถึงผู้นำเมียนมาและอินโดนีเซีย ซึ่งยอมรับภาวะโลกร้อนและปรับตัวเพื่อรับกับภาวะนั้นโดยการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งปลอดภัย
ส่วนผู้นำไทยไม่ยอมรับ หรือมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น หรือคงคิดบนฐานของฟุตบอลอเมริกันที่อาศัยแรงปะทะนำหน้า
พอจะเดาได้ไหมว่า ใครคิดถูก?