ทหารเก่าไม่เคยตาย เพียงค่อยๆหายไป | บัณฑิต นิจถาวร
การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 อาทิตย์ที่แล้ว ที่ประเด็นสําคัญคือการต่ออายุประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นําสูงสุดของจีนในตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สาม ได้ผ่านไปอย่างราบรื่น
แต่ที่ดูมีสีสันจากการรายงานของสื่อต่างประเทศคือ การให้ความเห็นของนาย ซอง ผิง (Song Ping) สมาชิกพรรคอายุ 105 ปี ก่อนหน้าการเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ ที่ออกมายํ้าผ่านสื่อออนไลน์ว่า นโยบายการปฏิรูปและเปิดประเทศคือหนทางเดียวของการพัฒนาและสร้างความก้าวหน้าให้กับจีนและเป็นหนทางเดียวที่จีนจะบรรลุความฝัน (Chinese dream)
เป็นแนวคิดการพัฒนาจีนที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง แต่ปัจจุบันมีการพูดถึงน้อยลง เป็นการทําหน้าที่ของสมาชิกพรรคอาวุโสที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
คุณจะคิดอย่างไง ถ้าคุณอายุ 105 ปี ยุ่งกับการเมืองมาตั้งแต่อายุ 13 เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแต่ตอนพรรคเพิ่งเริ่มต้น อยู่กับพรรคและการปฏิวัติมาตลอดชีวิต รู้จักและเข้าถึงผู้นำจีนที่ผ่านมาทุกยุคสมัย
เคยเป็นถึงกรรมการในคณะกรรมการกลาง (Politburo Standing Committee) ของพรรคสมัย เติ้ง เสี่ยวผิง ทําหน้าที่เลขานุการให้กับ โจว เอินไหล รู้ปัญหาและเข้าใจการเมืองในจีนมาตลอด และมองเห็นทิศทางที่จีนกําลังเดินขณะนี้ภายใต้ผู้นำชุดปัจจุบัน
นี่คือนาย ซอง ผิง อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์จีน อายุ 105 ปี หนึ่งในผู้แทนประมาณ 2,300 คนที่เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่อาทิตย์ที่แล้ว และเป็นผู้เดียวที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาจีนในปัจจุบันจนปรากฏเป็นข่าว
นายซอง ผิง มองว่า การปฏิรูปและการเปิดประเทศ (Reform and opening-up) คือหนทางเดียวที่จะทําให้ประเทศจีนมีการพัฒนามีความก้าวหน้าและเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้จีนบรรลุความฝัน
เป็นปรัชญา แนวคิด และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่จีนยึดถือมาตั้งแต่เริ่มต้นการพัฒนาประเทศยุคใหม่สมัยเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ที่นําเศรษฐกิจจีนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกในรูปลักษณะแบบจีน
ซึ่งประสบความสำเร็จมาก นายซอง ผิง มองว่านโยบายดังกล่าวเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศจีนที่ต้องทําต่อไป ละเลยไม่ได้
ในทางเศรษฐศาสตร์ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การปฏิรูปและการเปิดประเทศ คือหัวใจที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ที่จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก
ประเทศรวยขึ้น ประชาชนมั่งคั่ง ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และความยากจนลดลง เป็นโมเดลการพัฒนาประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเติบโตดังกล่าว ความเปราะบางก็มีให้เห็นซึ่งมาจากกลไกของระบบทุนนิยมคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนและอิทธิพลของภาคธุรกิจที่มีมากขึ้นมหาศาลต่อการใช้และจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งสองเรื่องเป็นปัญหาที่สะท้อนด้านมืดของระบบทุนนิยม และวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 ที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปเสียหายหนัก ก็ชี้ให้จีนเห็นถึงภัยที่จะมีต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศจากระบบทุนนิยมที่สุดโต่ง ที่สามารถทำให้ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินที่รุนแรงได้
ดังนั้น หลังปี 2008 เราจึงเห็นนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของจีนเริ่มเปลี่ยน หันมาพึ่งการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจแทนการส่งออก ให้ความสําคัญกับปัญหาการกระจาย ผ่านนโยบายที่มุ่งลดความเหลื่อมลํ้า ให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจและความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง
ภายใต้นโยบาย Common Prosperity หรือความรํ่ารวยร่วมกัน มีนโยบายที่เข้าควบคุมดูแลการใช้ทุนหรือการใช้เงินของภาคธุรกิจเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจมีต่อเสถียรภาพและป้องกันการใช้ทุนที่อาจสร้างความไม่เป็นระเบียบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
เป็นนโยบายที่ให้ความสําคัญกับเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจหลังประเทศได้เติบโตและรํ่ารวยแล้ว ทําให้การปฏิรูปและเปิดประเทศถูกลดความสำคัญลงในแง่นโยบาย
ความสำคัญของความมั่นคงและการรักษาเสถียรภาพของประเทศ เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ตอกย้ำในสุนทรพจน์เปิดการสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอาทิตย์แล้ว
กระตุ้นให้จีนพร้อมต่อสู้กับภัยคุกคามต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเท่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมิน ภัยคุกคามสำคัญคือ หนึ่ง ภัยคุกคามจากภายนอกที่ต้องการบั่นทอนความมีเสถียรภาพของจีนเพื่อหยุดการเติบโตของจีนในฐานะประเทศมหาอำนาจ
สอง ภัยคุกคามจากในประเทศที่มาจากผู้ที่เคยได้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมสุดโต่งและเสียประโยชน์จากมาตรการควบคุมของทางการ คือกลุ่มอีลีธ (Elites) ทางเศรษฐกิจที่เสียประโยชน์และกําลังถูกสอดส่องดูแล
ความเห็นนาย ซอง ผิง ที่พูดเรื่องนี้ในจังหวะนี้จึงตรงเวลาและตรงประเด็น เขาเป็นผู้อาวุโสในพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่กี่คนที่ยังทรงอิทธิพลแม้ไม่มีตำแหน่ง
บทความที่เขียนถึงเขาในเว็บไซต์ whatsonweibo.com พูดถึงความใกล้ชิดที่เขามีกับผู้นำจีนยุคเก่า เป็นคนที่มีทักษะเป็นเลิศในการดูคน คือ อ่านคนออก มองคนเป็น เป็นผู้ที่ขอให้พรรคสนับสนุน หู จิ่นเทา และ เวิน เจียเป่า ตั้งแต่ทั้งสองคนนี้เป็นเจ้าหน้าที่พรรคในต่างจังหวัดให้เข้ามาทํางานในส่วนกลาง ซึ่งในที่สุด ทั้งสองคนก็ก้าวหน้าจนขึ้นเป็นประธานาธิบดีจีนและนายกรัฐมนตรีจีนตามลำดับ
อีกเกร็ดที่น่าทึ่งคือ เขาเป็นคนเดียวที่ยื่นโน้ตส่วนตัวให้เติ้งเสี่ยวผิง ตอนเติ้งกําลังทําหน้าที่เป็นประธานการประชุมให้หยุดสูบบุหรี่ระหว่างทําหน้าที่ประธาน ซึ่งเติ้งก็หยุดสูบและไม่สูบบุหรี่อีกเลยตอนทําหน้าที่ประธานการประชุมตั้งแต่นั้นมา
นี่คือ นายซอง ผิง สมาชิกเก่าแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ไม่ไปไหน เหมือนทหารแก่ที่ไม่เคยตาย ยังทําหน้าที่อยู่ถ้าสุขภาพร่างกายให้ แม้อายุจะ 105 ปี.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล