ซูแน็ก vs เชอร์ชิลล์ ‘เมื่ออินเดียปกครองอังกฤษ’
การที่อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นเรื่องน่าฮือฮาในหลายประเด็น 'ริชี ซูแน็ก' เป็นนายกฯ คนที่ 5 ในรอบ 6 ปี เป็นนายกฯ เชื้อสายเอเชียคนแรก เป็นนายกฯ หนุ่มที่สุด ต้นกำเนิดของเขาทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่วันนี้ดูเหมือนประวัติศาสตร์จะพลิกผัน
“แต่แรกเริ่มมีสองชาติ ชาติหนึ่งเป็นอาณาจักรกว้างใหญ่ งดงามและทรงอำนาจถูกจัดสรรอย่างชาญฉลาด และเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยวัฒนธรรมซึ่งทรงอิทธิพลต่อดินแดนอันไพศาลของโลก อีกชาติหนึ่งเป็นอาณาจักรกึ่งศักดินาด้อยพัฒนา ถูกแบ่งแยกโดยฝักฝ่ายทางศาสนา และแทบไม่สามารถเลี้ยงดูประชาชนที่ไร้การศึกษา ป่วยไข้ และเสื่อมทราม ชาติแรกคืออินเดีย ชาติที่สองคืออังกฤษ”
นั่นคือย่อหน้าแรกของบทที่ 1 จากหนังสือ Indian Summer The Secret History of the End of an Empire ของอเล็กซ์ ฟาน ทันซัลมานน์ หรือในฉบับภาษาไทย Indian Summer ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ โดยสุภัตรา ภูมิประภาส กล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 1577 ที่เหล่าจักรพรรดิโมกุลอยู่ระหว่างกระบวนการรวมอินเดียเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งราวสามร้อยปีต่อมาอินเดียตกเป็นดินแดนอาณานิคมอันได้ชื่อว่า “เพชรยอดมงกุฎ” ของอังกฤษ แต่วันนี้ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้เริ่มขึ้น ท่ามกลางการเมืองผันผวนและวิกฤติเศรษฐกิจ อังกฤษได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ผู้มีเชื้อสายอินเดีย
วันที่ 24 ต.ค.ซึ่งเป็นวันดิวาลี เทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวฮินดู “ริชี ซูแน็ก” ชายฮินดู บุตรผู้อพยพชาวอินเดียก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่อจากลิซ ทรัสส์ เรียกความยินดีปรีดาจากฝูงชนที่เฉลิมฉลองเทศกาลกันอย่างเนืองแน่นตั้งแต่ในกรุงนิวเดลี ไปจนถึงแหล่งชอปปิงทางฝั่งตะวันตกของกรุงลอนดอน เพราะนี่คือหมุดหมายใหม่ทางวัฒนธรรม
ณ เซาท์ฮอลล์ไฮสตรีท ผู้รับบำนาญอย่าง อัสมา เชาดรี กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เธออยู่ในอังกฤษมา 42 ปี “ยาวนานมาก แต่คุณรู้มั้ย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ถ้าคุณอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม”
“ครับ เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นคนอินเดีย ผมชอบเขา” ริชาป ชาร์มา นักธุรกิจวัย 25 ปีกล่าว
ไกลออกไป การขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคของซูแน็กยังได้รับคำชมจากอีกฝั่งหนึ่งของช่องแคบอังกฤษ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากนับตั้งแต่เบร็กซิท
“น่าสังเกตว่า ซูแน็กเป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของอังกฤษ น่าสนใจมากที่ไม่เกิดปัญหาใดๆ เลยในอังกฤษ ลองคิดดูสิ ถ้าสถานการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศสหรือเยอรมนี ต้องยุ่งยากมากกว่านี้แน่นอน นี่น่าทึ่งมากทีเดียว” นักการทูตอาวุโสชาวยุโรปคนหนึ่งกล่าวกับรอยเตอร์
ในอังกฤษ การยอมรับซูแน็กมาจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองด้วย อานัส ซาร์วาร์ ผู้นำฝ่ายค้านพรรคแรงงานในสกอตแลนด์ ทวีตข้อความว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องกล่าวถึงช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่นี้
“เป็นอะไรที่ปู่ย่าตายายเราไม่เคยจินตนาการมาก่อนตอนที่ย้ายมาอยู่สหราชอาณาจักร”
แม้แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ ก็อดชื่นชมไม่ได้ ในงานเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีที่ทำเนียบขาวในวันเดียวกันนั้น
“เราได้ข่าวว่า ตอนนี้ริชี ซูแน็กได้เป็นนายกรัฐมนตรี คาดว่าเขาจะได้เป็น ผมคิดว่าพรุ่งนี้เมื่อเขาเข้าเฝ้ากษัตริย์ ช่างน่าทึ่งมากทีเดียว เป็นหมุดหมายใหม่และสำคัญยิ่ง”ไบเดนกล่าว
รอยเตอร์รายงานว่า ครอบครัวของซูแน็กอพยพจากอินเดียมาอยู่อังกฤษในทศวรรษ 1960 ช่วงเวลาที่ประชาชนจากดินแดนอดีตอาณานิคมย้ายมาอยู่อังกฤษเพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ยิ่งในอินเดียเสียงชื่นชมยิ่งกระหึ่ม นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีทวีตข้อความว่า “ขอแสดงความยินดีอย่างอบอุ่นที่สุดต่อริชี ซูแน็กที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรและหวังที่จะทำงานใกล้ชิดกันในประเด็นโลก และเติมเต็มโรดแมป 2030 ขอให้เทศกาลดิวาลีอันสุดพิเศษ เป็นสะพานมีชีวิต ที่เชื่อมชาวอินเดียกับสหราชอาณาจักร ในการเปลี่ยนความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นหุ้นส่วนในยุคสมัยใหม่"
ซูแน็ก vs เชอร์ชิลล์
ที่ฮือฮาที่สุดน่าจะเป็นความเห็นของนักธุรกิจอภิมหาเศรษฐี “อนันด์ มหินทรา” วัย 67 ปี ผู้ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย ทวีตข้อความว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรของริชี ซูแน็ก ได้พิสูจน์แล้วว่า คำพูดของวินส์ตัน เชอร์ชิลล์ อดีตนายกรัฐมนตรีนั้นผิด
ข้อความของมหินทรา ระบุ “ในปี 1947 ตอนที่อินเดียใกล้ได้เอกราช วินส์ตัน เชอร์ชิลล์ พูดว่า ‘ผู้นำอินเดียจะมีความสามารถต่ำและเป็นคนไร้ค่า’ วันนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 75 แห่งเอกราชของเรา เราจะได้เห็นชายเชื้อสายอินเดียเป็นนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ชีวิตนี้ช่างงดงาม”
สำหรับคำพูดของเชอร์ชิลล์นั้น เว็บไซต์ฮินดูสถานไทม์สรายงานว่า อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เคยแถลงต่อสภาตอนเป็นฝ่ายค้าน
“ถ้าให้เอกราชแก่อินเดีย อำนาจจะตกอยู่ในมือคนชั่ว อันธพาล โจร ผู้นำอินเดียจะมีความสามารถต่ำและเป็นคนไร้ค่า พวกเขาปากหวานใจคด จะต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเอง แล้วอินเดียจะพ่ายแพ้ในการทะเลาะวิวาทกันทางการเมือง วันหนึี่งจะมาถึงที่แม้แต่อากาศและน้ำจะถูกเก็บภาษีในอินเดีย”
สาบานตนด้วยภควัทคีตา
วอชิงตันโพสต์รายงานว่า เชอร์ชิลล์เคยขนานนามคนอินเดีย “ประชาชนอสูรกับศาสนาอสูร” แต่วันนี้ลูกหลานคนเหล่านั้นที่นับถือศาสนาฮินดูอย่างซูแน็ก ผู้เคยถือภควัทคีตาสาบานตนรับตำแหน่ง ส.ส.ในปี 2562 กำลังจะเป็นนายกฯ อังกฤษเหมือนที่เชอร์ชิลล์เคยเป็นมาก่อน
75 ปี เอกราชอินเดีย
เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึี่งเป็นวันครบรอบ 75 ปีเอกราชอินเดีย ซูแน็กอยู่ระหว่างการหาเสียงเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมครั้งแรก หลังจากบอริส จอห์นสันลาออกเมื่อต้นเดือน ก.ค. สุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ณ ขณะนั้น ให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจ กล่าวถึงการที่คนเชื้อสายอินเดียก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศอื่นว่า คนอินเดียอพยพมาหลายชั่วอายุคน ช่วงการปกครองของอังกฤษพวกเขาไปเป็นแรงงานภาคเกษตรในหลายส่วนของโลก คนรุ่นหลังๆ ผสมกลมกลืนและมีส่วนร่วมสร้างความมั่งคั่งให้กับสังคมนั้นๆ
ในอังกฤษมีนักการเมืองเชื้อสายอินเดียหลายคน บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพจากอินเดียไปแอฟริกาตะวันออกแล้วมาอยู่อังกฤษ ลงหลักปักฐานที่นั่นแต่ยังมีสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเหนียวแน่นกับอินเดีย
โปรไฟล์ดีมีชัยกว่าครึ่ง
ซูแน็กเกิดทางภาคใต้ของอังกฤษ และโดดเด่นจากการเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ที่วินเชสเตอร์คอลเลจ และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก้าวหน้ายิ่งขึ้นในอาชีพการเงินและแต่งงานกับธิดาอภิมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไอที “อินโฟซิส”
บางคนมองว่า การเลื่อนระดับทางสังคมเช่นนี้อาจทำให้อย่างน้อยๆ เส้นทางของซูแน็กก็ก้าวข้ามอุปสรรคทางเชื้อชาติมาได้
บทความจากหนังสือพิมพ์อังกฤษไม่ว่าอุดมการณ์ใด ต่างเน้นย้ำถึงความหนุ่ม ความรวยของซูแน็กมากพอๆ กับเชื้อชาติของเขา นักการเมืองวัย 42 ปีผู้นี้มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งในสภา
“การเปลี่ยนแปลงในการเมืองอังกฤษจริงๆ แล้วคือการเปิดกว้างมากขึ้นให้กับทุกเชื้อชาติ ศาสนา และเพศสำหรับคนที่มีความเป็นมืออาชีพ” ซันเดอร์ กัตวาลา ผู้อำนวยการกลุ่มคลังสมองบริติช ฟิวเจอร์ให้ความเห็นกับรอยเตอร์
แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญอย่าง ริชี ทริเวดี นักบัญชีวิชาชีพ วัย 50 ปี สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมจากเวสต์เดรย์ตัน ทางตะวันตกของลอนดอนกล่าวว่า เขามีความสุขอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กังวลว่า มหาเศรษฐีอย่างซูแน็กจะไม่ติดดิน
“เขาเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำโลก ไม่ใช่คนธรรมดาสามัญที่ต้องทำงานและเจอปัญหาอย่างที่ผมเจอ” สมาชิกพรรคโอดครวญ
จิกเนส พาเทล ช่างเพนท์ฝาผนังวัย 49 ปี สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมอีกคนหนึ่ง จากย่านฮาวน์สโลว์ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน มองว่า เป็นช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจและมีโอกาสเป็นจุดเปลี่ยน
“ในฐานะคนอินเดีย เราเป็นคนรักสงบ เรามาที่นี่ มาทำงาน จ่ายภาษี หาเงิน แต่เราก็ห่างไกลจากการเมืองด้วยเหตุผลบางอย่าง ผมเชื่อจริงๆ ว่า ถึงเวลาแล้วที่คนอินเดียจะได้เป็นส่วนหนึี่งของการเมือง ไม่ว่าอุดมการณ์ใด เมื่อมีปัญหาอย่ามัวแต่บ่น เราจำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึี่งในการแก้ปัญหาด้วย” คนธรรมดาชาวอินเดียกล่าวโดยสรุป
เปิดไทม์ไลน์‘บริติชราช’ สัมพันธ์ลึกอังกฤษ-อินเดีย
บริติชราช (British Raj) หมายถึง ช่วงเวลาที่อังกฤษปกครองอนุทวีปอินเดียโดยตรงจากปี 1858-1947 ที่อินเดียได้เอกราช
-1857 ทหารซีปอยหรือทหารรับจ้างที่รับการฝึกฝนตามแบบตะวันตกทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกก่อกบฏล้มเหลว
-1858 อังกฤษปกครองอินเดียโดยตรง (บริติชราช)
-1885 ก่อตั้งคองเกรสแห่งชาติอินเดีย เป็นเวทีแสดงความรู้สึกชาตินิยม
-1920-1922 ผู้นำชาตินิยม มหาตมะ คานธี รณรงค์อารยะขัดขืนต้านอังกฤษ
-1947 สิ้นสุดการปกครองของอังกฤษ อนุทวีปอินเดียถูกแบ่งเป็นสองประเทศ อินเดียมีประชากรส่วนใหญ่เป็นฮินดู และปากีสถาน ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม