‘ธนาคารอาหาร’ เครื่องต่อชีวิต ผู้ดีอังกฤษยามยาก

‘ธนาคารอาหาร’ เครื่องต่อชีวิต ผู้ดีอังกฤษยามยาก

ท่ามกลางวิกฤติค่าครองชีพเพิ่มสูงในสหราชอาณาจักร ธนาคารอาหารซึ่งคอยจัดหาข้าวของพื้นฐานที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้กำลังเพิ่มมากขึ้น หลายคนยืนยันว่า นี่คือเครื่องช่วยชีวิตพวกเขา

“นี่ช่วยชีวิตผมไว้แท้ๆ เลย” ไมเคิล ค็อกซ์ วัย 51 ปี เผยความรู้สึกกับสำนักข่าวเอเอฟพีหลังจากไม่ได้รับประทานอาหารมาสองวัน สุดท้ายก็ได้ทางออกเมื่อตัดสินใจไปที่ ธนาคารอาหาร

“ผมไม่มีเงิน ก็เลยลองดู” ค็อกซ์เล่า ซึ่งก่อนจะเกิด วิกฤติค่าครองชีพ เขาไม่เคยขอข้าวใครกิน

เมื่อวันจันทร์ (31 ต.ค.) ประชาชนหลายร้อยคนเข้าแถวหน้า ธนาคารอาหาร ในย่านแฮคนีย์ทางตะวันออกของกรุงลอนดอน พร้อมด้วยคูปองหนึ่งใบเปิดทางให้พวกเขาหยิบตะกร้าอาหารสำหรับสามวัน แต่ละคนจะได้รับสินค้าหลากหลายอย่างตามความจำเป็นและขนาดครอบครัว หลายรายการเป็นของบริจาคจากประชาชน

ราคาอาหารและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงในอังกฤษทำให้เงินเฟ้อพุ่ง ตัวเลขเดือน ก.ย.สูงเกิน 10% สูงสุดในบรรดา ประเทศสมาชิกจี7 เพิ่มแรงกดดันต่องบประมาณครัวเรือนที่ตึงตัวอยู่แล้ว

“ด้วยวิกฤติค่าครองชีพในขณะนี้ ประชาชนไม่สามารถจ่ายบิลและซื้ออาหารได้ พวกเขาต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสังเกตเป็นแบบนี้กันมากขึ้นๆ โชคไม่ดีเลย” โจฮัน เอคลันด์ ผู้ดูแลธนาคารอาหารรายหนึ่งเล่า

ซิโดอิน ฟลอเร ฟูมบา  พยาบาลบัณฑิต ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล กล่าวว่า เธอไม่สามารถหาอาหารเลี้ยงดูลูกทั้งสามคนและสร้างความอบอุ่นให้บ้านได้

“ชีวิตตอนนี้ค่อนข้างลำบาก ดิฉันต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งไม่พอสำหรับตัวดิฉันเองเพราะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นเร็วมาก ดิฉันพบว่า ธนาคารอาหาร เป็นทางเลือกสุดท้ายที่ช่วยเหลือดิฉันได้”

หน้าหนาวชวนกังวล

เอคลันด์กล่าวว่า เขากังวลเกี่ยวกับอากาศหนาวที่กำลังมาถึง และโอกาสที่บิลค่าไฟสูงเสียดฟ้ากะทันหัน ตอนนี้เริ่มกระทบผู้คนแล้ว

“ผมกังวลมากกับฤดูหนาวนี้ คิดว่าน่าจะสยองขวัญ” ผู้ดูแลธนาคารอาหารกล่าว 

วันเสาร์ก่อน ธนาคารอาหาร ในแฮคนีย์มีผู้คนมาลงทะเบียนขอความช่วยเหลือมากเป็นประวัติการณ์ ความต้องการราวสองเท่าจากช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด

ธนาคาอาหารแห่งใหม่ ที่จะเปิดในเย็นวันศุกร์รองรับคนทำงานเต็มเวลา มีกำหนดเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.

ทันยา วิตฟิลด์ หัวหน้าฝ่ายบริการธนาคารอาหารแฮคนีย์ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เป็นอะไรที่ใหม่มาก โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนสินค้าจำเป็นเพิ่มทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

“ทุกคนมองว่าพาสต้าเป็นทางเลือกราคาถูก ตอนนี้ไม่ถูกอีกต่อไปแล้ว” เธอเล่า

ผลการวิจัยเชิงทดลองของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ราคาน้ำมันพืช ปีนี้พุ่งขึ้น 65% เช่นเดียวกับพาสต้า ทั้งสองรายการราคาเพิ่มขึ้นเร็วสุดตาม

ผลสำรวจล่าสุดจากสมาคมผู้บริโภคWhich?สำรวจประชาชน 3,000 คน พบว่า ชาวอังกฤษหลายล้านคนต้องอดมื้อกินมื้อครัวเรือนสหราชอาณาจักรครึ่งหนึ่งลดจำนวนมื้ออาหารที่รับประทานลง

 

อาหารหรือความอบอุ่น

สถานการณ์ของผู้ได้รับความช่วยเหลือกำลังล่อแหลม หลายคนกล่าวว่าพวกเขาต้องเลือกระหว่างอาหารหรือความอบอุ่น

“จำนวนคนที่เข้ามาถามหาอาหารที่พวกเขาไม่มีจะกินน่าตกใจมาก และน่ากังวลว่าคำร้องขอจะเพิ่มขึ้นทุกๆ สัปดาห์” วิตฟิลด์กล่าว

ผลอีกอย่างหนึ่งที่ตามมาจาก วิกฤติค่าครองชีพ คือผู้คนมีเงินให้คนอื่นน้อยลง

“โดยปกติช่วงเวลานี้ของปีเรามักยุ่งกับการเก็บของและการบริจาคของโรงเรียนและโบสถ์“ วิตฟิลด์กล่าวและว่า แต่ปีนี้หลายโรงเรียนยกเลิกเทศกาลแจกของ ”เพราะผู้ปกครองหลายคนกำลังลำบาก พวกเขาจึงไม่อยากเพิ่มแรงกดดันให้กับครอบครัว”

ด้านแอนดรูว์ ไวด์ริดจ์ คนงานในธนาคารอาหารกล่าวว่าเมื่อหลายครอบครัวที่เคยบริจาคให้ธนาคารอาหารเป็นประจำ ตอนนี้ถูกบีบให้เน้นเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ธนาคารก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์ก่อนคริสต์มาสจะเป็นไปอย่างดีที่สุด

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้รับการบริจาคเพิ่มขึ้น” ไวด์ริดจ์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ความต้องการเพิ่มขึ้นสองเท่าและการบริจาคลดลงครึ่งหนึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนโควิด