ทำความรู้จัก APEC แบบเบาๆ | วรากรณ์ สามโกเศศ
ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางติดตามผู้นำไทยเข้าร่วมประชุมผู้นำ APEC ระหว่างปี 1997-2000 (1997 แวนคูเวอร์ แคนาดา)/1998 กัวลาลัมเปอร์/1999 โอคแลนด์ นิวซีแลนด์ และ 2000 บรูไน) ตามภารกิจที่รับผิดชอบ จึงสนใจ APEC เป็นพิเศษ วันนี้ขอเอาเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับ APEC มาเล่าสู่กันฟัง
เรื่องแรก
บุคคลแรกที่เสนอความคิดในเรื่องการมีกลุ่มประเทศที่เรียกว่า APEC คือ Bob Hawke นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงโซล เกาหลีใต้
ในเดือน ม.ค.1989 และอีก 10 เดือนต่อมา 12 เศรษฐกิจก็พบปะกันที่แคนเบอร์รา ออสเตรเลีย เพื่อจัดตั้ง APEC โดยผู้ก่อตั้งเหล่านี้ได้แก่ ออสเตรเลีย ไทย บรูไน แคนาดา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และสหรัฐ
ในปี1991 จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ก็เข้าร่วมด้วย, ในปี 1993 เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี, ในปี 1994 ชิลี และในปี 1998 เปรู รัสเซีย และเวียดนาม รวมกันทั้งหมดเป็น 21 เศรษฐกิจ
ระหว่างปี 1989-1992 เป็นการพบปะหารือกันอย่างไม่เป็นทางการในระดับรัฐมนตรีและบุคคลระดับสูงของภาครัฐ ส่วนการพบปะประจำปีระหว่างผู้นำ APEC นั้น ประธานาธิบดี Bill Clinton เป็นผู้เริ่มในปี 1993 โดยพบกันที่เกาะเบลกำ รัฐวอชิงตัน เป็นครั้งแรก
เรื่องที่สอง
ไทยเคยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำ APEC มาแล้วครั้งหนึ่งในอดีต ในเดือน ต.ค. 2003 ในครั้งนั้นประธานาธิบดี George W. Bush ประธานาธิบดี Putin และประธานาธิบดี Hu Jintao มาร่วมประชุมด้วย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือคุณทักษิณ ชินวัตร
ในกลุ่ม ASEAN ของเรา นอกจากไทยแล้ว ประเทศที่เคยเป็นผู้จัดการประชุมผู้นำ APEC ได้แก่ อินโดนีเซีย (1994) ฟิลิปปินส์ (1996) มาเลเซีย (1998) บรูไน (2000) เวียดนาม (2006) สิงคโปร์ (2009) อินโดนีเซีย (2013) ฟิลิปปินส์ (2015) เวียดนาม (2017) มาเลเซีย (2020) สรุปก็คือเศรษฐกิจใน ASEAN ที่เป็นสมาชิกได้มีโอกาสจัดประชุม 2 ครั้ง
ยกเว้นสิงคโปร์และบรูไนจัดครั้งเดียว ข้อสังเกตก็คือ กัมพูชา เมียนมา ลาว มิได้เป็นสมาชิกของ APEC แต่ในครั้งนี้ไทยผู้เป็นเจ้าภาพได้เชิญผู้นำกัมพูชา ฝรั่งเศส และซาอุดีอาระเบีย เข้าร่วมประชุมตามสิทธิของเจ้าภาพด้วย
เรื่องที่สาม
การประชุมครั้งนี้มิได้เกี่ยวพันเฉพาะผู้นำเท่านั้น หากยังมีการประชุมอีกนับสิบๆ ครั้งระหว่างรัฐมนตรีหลายกระทรวง ข้าราชการระดับสูง ภาคเอกชน ฯลฯ ของกลุ่ม APEC เพื่อหารือและตกลงกันในเรื่องต่างๆ มากมาย
ทั้งก่อนหน้า ระหว่างการประชุม และหลังการประชุมด้วย หากนับการประชุมเพื่อเตรียมการประชุมต่างๆ เหล่านี้ด้วยแล้วอาจมีการประชุมรวมแล้วเป็นร้อยครั้ง
ข้าราชการหลายหน่วยงานโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ต้องทำงานหนักตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีก่อนการประชุม ตำรวจและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของไทยและของต่างประเทศที่มาด้วยต้องทำงานกันอย่างระมัดระวัง
พูดง่ายๆ ก็คือ การประชุมผู้นำ APEC จุดประกายไฟในการทำงานร่วมกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ยังมีการประชุมระหว่างสองผู้นำด้วยกันเองเป็นการพิเศษอีกด้วย เพื่อหารือและตกลงในเรื่องต่างๆ สำหรับการประชุมผู้นำแค่เห็นชื่อคนเข้าร่วมประชุมก็รู้แล้วว่ามีเรื่องให้พูดกันมากแค่ไหนในยามนี้ที่ข้อขัดแย้งระหว่างประเทศดูจะมีอยู่ในแทบทุกอณู
เรื่องที่สี่
โปรดสังเกตว่าหน่วยของผู้เข้าร่วมกลุ่ม APEC คือ เศรษฐกิจ (economy) มิใช่ประเทศ (country) APEC ตั้งใจให้เป็นกลุ่มเศรษฐกิจ มิใช่กลุ่มการเมือง ฮ่องกงและไต้หวันซึ่งมิใช่ประเทศหากแต่เป็นเศรษฐกิจจึงเป็นสมาชิกได้เต็มตัว
การได้เป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศ เช่น APEC นับได้ว่าเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาล เพราะเป็นการสร้างคะแนนนิยมกับประชาชนของตน
การได้ร่วมเป็นสมาชิกหรือไม่ บ่อยครั้งขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของการเมืองระหว่างประเทศ หรือการเมืองในประเทศของตน หากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่ากลุ่มจะได้ประโยชน์จากการรับเป็นสมาชิกและไม่มีประเทศใดเห็นเป็นอย่างอื่นก็ได้เป็นสมาชิกสมใจ
ขนาดของเศรษฐกิจและประชากร ทำเลที่ตั้ง เครือข่ายของความเป็นมิตร ระบบการปกครองของประเทศ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยตัดสินทั้งสิ้น
เรื่องที่ห้า
ประธานาธิบดี Obama ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องการแต่งกายของผู้นำ APEC ตอนที่ประชุมกันที่ฮาวายในปี 2011 เรื่องก็มีอยู่ว่า ตามประเพณีตั้งแต่เริ่มมีการประชุมในปี 1993 ที่สหรัฐเป็นเจ้าภาพ
ประธานาธิบดี Clinton ได้แจกเสื้อแจ็กเกตนักบินแก่ผู้นำทุกคนเพื่อใส่ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกปีเจ้าภาพก็แจกชุดเสื้อผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อใส่ถ่ายภาพ
แต่พอมาถึงคิวฮาวาย ผู้นำทั้งหลายก็คาดว่าคงได้ใส่เสื้อเชิ้ตฮาวาย (aloha shirt) ถ่ายรูปกันแน่นอน แต่ Obama บอกว่า ปีนี้ใส่เสื้อตามสบาย จะไม่ใช้เสื้อฮาวาย ผู้นำก็งุนงงมากเช่นเดียวกับชาวฮาวายเพราะเป็นโอกาสที่ดีมากในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวฮาวาย
และอีกทั้งแฟชั่นชุดฮาวายกำลังมาแรงในโลก คนฮาวายพูดไม่ออกเพราะ Obama เป็นฮีโร่ของชาวฮาวายเพราะเกิดที่นั่น แต่พูดกันว่าประธานาธิบดีสามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ แต่ว่าผิดพลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ
APEC เป็นกลุ่มที่เข้มแข็งในระดับหนึ่งตามลักษณะของการรวมตัวกันอย่างไม่มีการผูกพันตามกฎหมาย และทุกอย่างใช้ความเห็นพ้องในการตัดสิน APEC มีหลายกลุ่มที่เป็นคู่แข่งทั้งในภูมิภาคนี้และบริเวณใกล้เคียง
ถือได้ว่าเป็นกลุ่มมิตรภาพความร่วมมือที่เก่าแก่แห่งหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งมี “คู่ชก” ระดับแม่เหล็กรวมกันอยู่ใน “ค่ายมวย” แห่งนี้อย่างน่าสนใจยิ่ง