ผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรแบบอิเล็กทรอนิกส์ | บวร ปภัสราทร

ผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรแบบอิเล็กทรอนิกส์ | บวร ปภัสราทร

ใครจะมาขอเป็น ผู้อยู่อาศัยในบ้านเมืองไหน ก็ต้องของเป็น Permanent Resident ของประเทศนั้น โดยเฉพาะที่รู้จักกันมากหน่อย น่าจะเป็นการขอกรีนการ์ดเพื่อเข้าไปมีถิ่นที่อยู่ถาวรในสหรัฐอเมริกา

แต่เมื่อเกือบสิบปีมาแล้วได้มีประเทศหนึ่งที่ประกาศว่า ใครๆก็สามารถมาเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศนั้นได้ เพียงแต่ตัวไม่ได้ไปอยู่จริง ๆ เป็นแค่ตัวตนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถตั้งบริษัทได้ เปิดบัญชีธนาคารได้   ตัวจริงทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ 

เหมือนที่เราซื้อของขายของกันผ่านแอปต่าง ๆจนเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนั้นยังสามารถติดต่อธุรกรรมกับรัฐผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เกือบทั้งหมด คิดเป็นเปอร์เซนต์ก็กว่าเก้าสิบเก้าเปอร์เซนต์ ประเทศนั้นคือเอสโตเนีย

ประเทศเอสโตเนียที่มีคนไทยไปเที่ยวกันไม่น้อยในไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอสโตเนียเรียกผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรแบบนี้ว่า e-resident ใครสนใจอยากสมัครไปเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรแบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอสโตเนีย ก็ลองเปิดเว็บ e-resident.gov.ee เพื่อดูรายละเอียดขั้นตอนการสมัครได้

ถ้าถามว่าจะไปสมัครทำไม ถ้าบอกว่า William Henry Gates III และ Guy Kawasaki เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรแบบอิเล็กทรอนิกส์ของเอสโตเนีย คงทำให้นึกออกว่าสมัครไปเพื่อทำกิจการดิจิทัลในประเทศนั้น ซึ่งทำกิจการที่นั่นถือเป็นกิจการใน EU

เพราะเอสโตเนียเป็นสมาชิก EU อยู่ด้วย ใครที่มีหัวคิดทางธุรกิจดิจิทัลดี ๆ ที่คาดว่าจะขายดีในยุโรป

 

การเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรแบบอิเล็กทรอนิกส์ในเอสโตเนีย อาจช่วยทั้งในการสร้างโอกาสและการลดอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดยุโรป 

เอสโตเนียจริงจังกับกิจการสตาร์ตอัปมาก ๆ กำไรจากรายได้ไม่ต้องเสียภาษี ต่างจากบ้านเราวันนี้ที่แค่ใครขายหุ้นก็เจอภาษีแล้ว การสมัครก็กระทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

ขั้นตอนท้าย ๆ โดยเฉพาะการรับบัตรประจำตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรแบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถทำได้ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่ทำได้

เอสโตเนียประกาศว่าบ้านเขาจดทะเบียนตั้งบริษัทได้ภายในไม่เกินสิบหกนาที เขาบอกว่าหน่วยงานรัฐบ้านเขาไม่มีขั้นตอนยุ่งยากยืดเยื้อเส้นสายเหมือนบางประเทศ

ในขณะที่บ้านเราพยายามดึงคนมาอยู่มาทำงานในแผ่นดินบ้านเราจริง ๆ เชิญชวนด้วยบรรยากาศดี ๆ อาหารอร่อย ผู้คนใจดี ร่วมกับอีกสารพัดสิทธิประโยชน์ เราอยากเห็นบริษัทไอทีมาอยู่ที่อีอีซีบ้าง ภูเก็ตบ้าง

แต่พบว่ามีอีกอย่างน้อยสองประเทศที่เป็นสมาชิก EUที่กำลังเดินตามแนวทาง e-resident ของเอสโตเนีย คือลิทัวเนีย และโปรตุเกส

ทั้งสองประเทศนี้ก็มีนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจากบ้านเราไปเยี่ยมเยือนปีละไม่น้อย  จุดขายทั้งสามประเทศในเรื่อง e-resident เหมือนกันหมด คือใครได้เป็น e-resident จะตั้งบริษัทได้ โดยตัวจริงอาจอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้

และบริษัทที่ตั้งขึ้นนั้นถือเป็นบริษัทใน EU ซึ่งเดิมมักพบเจอเฉพาะกลุ่มที่กระเป๋าหนัก ๆ เท่านั้นถึงจะพอไปไหว รูปแบบนี้จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งของใครที่เป็นสตาร์ทอัพที่มีเงินทองไม่มากมายนัก แต่มีไอเดียดี ๆที่เชื่อว่าพอค้าขายในยุโรปได้

ที่เล่าให้ทราบนี้ ด้านหนึ่งคืออยากชี้โอกาสให้คนหนุ่มสาวที่มีไอเดียดี ๆมีหนทางเติบโตได้ ข้อมูลจากเอสโตเนีย และลิทัวเนีย บอกว่าเงินทองในการดำเนินกิจการในระบบออนไลน์ตกปีละประมาณ เจ็ดแปดร้อยยูโร หรือสามหมื่นบาท

ส่วนค่าดำเนินงานจริง ๆที่เกิดขึ้นก็สุดแล้วแต่กิจการและสถานที่ที่ทำกันจริง ๆ จะจ้างโปรแกรมเมอร์กันปีละสักเท่าไหร่ สุดแล้วแต่การงานที่หามาได้ เราทราบกันดีว่าสตาร์ตอัปในบ้านเรามีอุปสรรคมากมายจากสารพัดมิติ เกิดได้แต่โตยากมาก ๆ

เกิดที่นี่อาจไปโตที่เอสโตเนียได้ดีกว่า เพียงแต่ต้องเดินหน้าออกไปอย่างรอบคอบจริง ๆ อุปสรรคน้อย โอกาสเยอะ แต่ต้องตระหนักว่าไม่ใช่สภาพที่คุ้นเคย

อีกด้านหนึ่งคืออยากบอกว่า ความคิดว่าวิธีการที่เคยใช้ได้เมื่อวานจะได้ผลดีเมื่อนำมาใช้ในวันพรุ่งนี้ ไม่ใช่ความคิดที่ฉลาด อย่าเทเงินทองลงไปกับความคิดนั้นอย่างเด็ดขาด

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร  

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี