“สงครามรัสเซีย-ยูเครน” แย่งซีนเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม
ประเทศพันธมิตรใกล้ชิดยูเครน กล่าวในเวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม หวังกดดันนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ให้ยอมไฟเขียวจัดหารถถังรุ่นใหม่สุดให้กับยูเครน หลังเยอรมนีคัดค้านอย่างต่อเนื่อง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หนึ่งวันก่อนที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ จะเดินทางไปร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ซึ่งมีประเทศที่ใกล้ชิดยูเครนที่สุด พยายามเปลี่ยนใจนายกฯเยอรมนีในการอนุญาตให้จัดหารถถังรุ่นเลโอพาร์ท (Leopard ) ที่ผลิตในเยอรมันให้กับรัฐบาลเคียฟ ก่อนที่การประชุมระดับรัฐมนตรีกลาโหมนาโตจะเริ่มขึ้นในวันศุกร์นี้ (20 ม.ค.)
ประธานาธิบดีอันด์เชย์ ดูดาร์ ของโปแลนด์กล่าวบนเวทีการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่เมืองดาวอสในวันอังคาร (17 ม.ค.) ว่า "เราหวังและพยายามจัดหาการสนับสนุนให้กับยูเครนมากขึ้น ซึ่งมีพันธมิตรสองสามรายจะมอบรถถังให้กับยูเครน
ด้านประธานาธิบดีกิตานัส นาวเซดาของลิทัวเนีย กล่าวว่าเขา "เชื่อมั่นอย่างแรงกล้า" ว่าเยอรมนีจะจัดหารถถังเลโอพาร์ทให้กับยูเครน ซึ่งกำลังต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย
ในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีเยอรมนีได้คัดค้านการส่งมอบรถถังสมัยใหม่ให้กับยูเครนหรืออนุญาตให้พันธมิตรจัดหาให้ โดยนายโชลซ์กล่าวว่า การจัดส่งรถถังของพันธมิตรชาติตะวันตกให้ยูเครนได้ก็ต่อเมื่อ ต้องมีข้อตกลงระหว่างพันธมิตรหลักของเคียฟ โดยเฉพาะสหรัฐ
คริสติน แลมเบรชต์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนีเพิ่งจะลาออกจากตำแหน่งในวันจันทร์ และเขาได้บอกกับรอยเตอร์ว่า การตัดสินใจพิจารณามอบรถถังจะถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมเป็นวาระแรกของผู้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีคนใหม่
มีรายงานด้วยว่า สตรีหมายเลขหนึ่งของยูเครนได้ขึ้นกล่าวในเวทีเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัมด้วย ขณะที่วิตาลี คลิทช์โก นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟก็ได้เดินทางไปร่วมการประชุม WEF และเขากล่าวแสดงความหวังว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยุติลงในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัมครั้งถัดไป และคาดว่า คณะผู้แทนในงานจะหารือถึงวิธีการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญในช่วงต้นปี 2566 รวมถึงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม การประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัมครั้งที่ 53 ได้เริ่มเปิดฉากขึ้นในวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 ม.ค.) โดยมีประมุขแห่งรัฐ 52 แห่งและซีอีโอกว่า 600 คนเข้าร่วม