ยังคิดไม่ออก ปูตินจะชนะสงครามอย่างไร

ยังคิดไม่ออก ปูตินจะชนะสงครามอย่างไร

ผ่านเวลาไปหนึ่งปีแล้ว นับตั้งแต่ที่กองทัพรัสเซียเริ่มรุกรานยูเครน แต่สถานการณ์ทั้งในสนามรบและในทางยุทธศาสตร์ ไม่ได้เป็นอย่างที่บรรดาชาตินิยมรัสเซียคิดไว้แต่อย่างใด

แม้ว่าทหารรัสเซีย พันธมิตรทหารรับจ้างและอาสาสมัครแบ่งแยกดินแดนแคว้นตะวันออกของยูเครน จะยึดครองพื้นที่ได้มากพอสมควร แต่พวกเขาไม่สามารถคืบหน้าได้อีกแล้ว ทั้งยังถูกผลักดันถอยร่นในสมรภูมิหลายจุด 

ส่วนในมิติที่โพ้นขึ้นไปจากควันปืนและกระสุน ก็ยังไม่เห็นทีท่าว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายมีเปรียบฝ่ายปรปักษ์ตะวันตกในด้านใด แน่นอนว่าแต่ละฝ่ายก็ยังมีไต๋หรืออาวุธลับที่ซุกไว้อีกมาก 

แต่เมื่อประเมินแล้ว ไม่ว่าทั้งจากไพ่ที่อานุภาพสูงสุด เช่น อาวุธนิวเคลียร์ หรือตัวแปรพลังอำนาจสูงอย่างจีน ไปจนถึงทรัพยากรที่รัสเซียมีเหลือเฟืออย่างน้ำมัน ก็ยังไม่เห็นทางที่ประธานาธิบดี Vladimir Putin จะสมหวังไปได้

จริงๆ แล้ว โอกาสของรัสเซียหมดไปตั้งแต่ไม่กี่วันแรกของสงครามแล้ว ทั้งที่พวกเขาเริ่มต้นได้ดีเมื่อกุมภาพันธ์ปีกลาย ที่ใช้เวลาไม่นานยึดเมืองยูเครนได้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาติตะวันตกยังงงกับการเซอร์ไพรส์ที่เกิดขึ้น

ยังคิดไม่ออก ปูตินจะชนะสงครามอย่างไร

หากไม่เกิด “ปรากฏการณ์เซเลนสกี” ป่านนี้ชาติตะวันตกคงได้แต่ประณามและคว่ำบาตร แต่ยูเครนคงเสียแก่มอสโกอย่างสมบูรณ์และเกียรติภูมิของรัสเซียจะยังคงผุดผ่องไม่เหมือนทุกวันนี้ 

การที่ประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky ไม่เลือกทางหนี ตัดช่องน้อยแต่พอตัวออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนอกประเทศ ดันอยู่เป็นขวัญและกำลังใจแก่ชนชาติยูเครน พร้อมทั้งใช้สกิลปฏิบัติการข่าวสารระดับเทพ รวมทั้งสุนทรพจน์ที่จับใจผู้นำชาติตะวันตกอย่างมหาศาล

เป็นผลให้สถานการณ์พลิกผัน ทหารยูเครนรวมใจสู้แบบลืมตาย สหรัฐและยุโรปก็เห็นแววดีจึงหนุนหลังยูเครนเต็มคาราเบล โดยเฉพาะการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงให้สู้รบ จนสถานการณ์ในสนามอยู่ในระดับก้ำกึ่งทุกวันนี้

หากมองในแง่ศักดิ์สงครามบนกระดาษ รัสเซียยังมีอยู่สูง อันดับความฉกาจของกองทัพยังเป็นที่ 2 (ตามที่ Global Fire Power ระบุ) เหมือนเช่นปีก่อน 

อาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นเลิศที่ออกมาโชว์ในวาระต่างๆ ยกเว้นในการสู้รบจริงนั้นก็ชวนน้ำลายไหลให้อยากได้ ทรัพยากรธรรมชาติก็มาก ประชาชนที่หนุนหลังด้วยกระแสชาตินิยมก็เยอะอยู่

ยังคิดไม่ออก ปูตินจะชนะสงครามอย่างไร

พันธมิตรอย่างจีนหรืออินเดียก็เป็นยักษ์ใหญ่ แต่ไฉนเวลารบจริงกับยูเครนปีหนึ่งแล้วยังทำได้แค่นี้ เป็นสิ่งที่คนสงสัยและยิ่งพิจารณานานไปก็ยิ่งพบว่า รัสเซียไม่น่าที่จะพลิกชนะได้

เป็นไปได้ที่รัสเซียจำต้องเก็บยุทโธปกรณ์ระดับ State-of-the-art ของตนสำรองไว้เผื่อทำสงครามกับนาโต ตอนนี้ทหารนาโตเสริมกำลังพรมแดนด้านที่ติดกับรัสเซียพึ่บพั่บ พวก Bucharest 9 นอกจากจะไม่กลัวมอสโกแล้วยังใจถึง กระเหี้ยนกระหือรืออยากสู้มากกว่าพวกยุโรปตะวันตกเสียอีก 

ดังนั้น เครมลินต้องสำรองกำลังเตรียมรับการศึกภาคขยายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทำให้การเพิ่มเติมกำลังทางด้านล่างไม่ราบรื่น นี่ยังไม่รวมถึงหลักนิยมการยุทธ์ที่เป็นแบบเก่า เส้นการส่งกำลังบำรุงที่ไกลเกินไป และอื่นๆ เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการบ่อนทำลายทั้งขีดความสามารถและขวัญกำลังใจทหารทั้งสิ้น

มิตรที่ปูตินมีนั้นมิได้เหนียวแน่เหมือนที่เซเลนสกีมี จนถึงบัดนี้จีนยังไม่ได้สนับสนุนรัสเซียอย่างเป็นรูปธรรมมากไปกว่ากำลังใจและการงดออกเสียงใน UN

ทั้งนี้น่าจะเพราะปักกิ่งเกรงจะกระทบต่อภาพลักษณ์ในสายตาสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งต่อจีนในทุกมิติในยุคที่จีนกับสหรัฐกำลังเพิ่มความเป็นปรปักษ์ต่อกันยิ่งขึ้น ก้าวที่จีนจะเดินเหินจึงระวังตนเป็นอย่างมาก 

วันใดที่จีนถูกยุโรปจัดเรตให้อยู่เกรดเดียวกับรัสเซีย ซีเรีย หรือเกาหลีเหนือ จีนจะโดดเดี่ยวมาก ชาติอื่นๆ ที่เป็นมิตรของมอสโกก็ไม่ต่างจากจีน คือพอใจที่จะได้ประโยชน์จากพลังงานรัสเซียและโชว์ความร่วมมือทางทหารแบบหลวมๆ ผลคือรัสเซียรบอย่างโดดเดี่ยว แม้แต่เบลารุสยังช่วยได้ไม่เต็มที่

การคว่ำบาตรอย่างรุนแรงที่ชาติตะวันตกมีต่อรัสเซียนั้นอาจรุนแรงกว่าที่โลกรับรู้

โลกรับรู้ถึงการเดินขบวนประท้วงเงินเฟ้อของแพงในหลายประเทศทั่วยุโรป ต่อให้รัฐบาลบางประเทศต้องล้ม รัฐบาลใหม่ที่ขึ้นครองอำนาจต่อมาแทบจะเดาได้เลยว่ายังต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสหภาพยุโรปและนาโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง 

ยังคิดไม่ออก ปูตินจะชนะสงครามอย่างไร

แต่สำหรับรัสเซียแล้ว เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่ารัฐบาลหลังยุคปูตินจะเป็นอย่างไรต่อไป จะเหมือนโซเวียตที่ล่มสลายลงในเวลาอันสั้นหรือเปล่าก็เป็นได้

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในรัสเซียเป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกอยากเห็น และทำทุกวิถีทางอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน ใครคบค้ากับรัสเซียหรือมิตรของรัสเซียก็โดนไปด้วย ศึกนี้ไม่ใช่รัสเซียหรือยูเครนเท่านั้นที่ประกาศจะแพ้ไม่ได้ ชาติตะวันตกก็เช่นกัน

แม้ว่าปูตินจะพูดถึงอาวุธนิวเคลียร์บ่อยๆ แต่โอกาสที่จะสั่งยิงนั้นน้อยนัก และที่น้อยกว่านั้นก็คนกล้าที่จะปฏิบัติตาม สงครามนิวเคลียร์ระหว่างรัฐนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

ถึงหากจะมีการกดปุ่มขึ้นมาจริงๆ จำนวนเมืองหลวงของชาติตะวันตกที่เหลืออยู่ก็มากกว่าของรัสเซียอย่างแน่นอน ดูไปดูมาไม่เพียงแต่จะเอาชนะยูเครนไม่ได้ ไครเมียหรือพื้นที่ยึดครองอื่นในอนาคตก็ยากที่จะรักษาไว้เสียด้วยซ้ำ.