‘เกาหลีใต้’ มอง ‘ไทย’ ผู้เล่นหลัก ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก
‘เกาหลีใต้’ มอง ‘ไทย’ ผู้เล่นหลัก ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกจะช่วยสร้างความร่วมมือด้านการค้า-การลงทุน และความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้
ประธานาธิบดียุน ซ็อก ย็อลของเกาหลีใต้เปิดตัว “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกใหม่ ของเกาหลีใต้และอาเซียน” หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ และส่งเสริมความเป็นเอกภาพในภูมิภาค ท่ามกลางสถานการณ์ยั่วยุจากเกาหลีเหนือ
“มุน ซึง-ฮย็อน” เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทยกล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกใหม่ ของเกาหลีใต้และอาเซียนถูกพัฒนาและยกระดับให้มีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น มองหาแนวทางความร่วมมือเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน” และเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือเพื่อนำไปสู่แก้ไขสถานการณ์ระดับภูมิภาคร่วมกัน เช่น ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ดิจิทัล และสาธารณสุข
“ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกฯแตกต่างจากเดิม ตรงที่เรามุ่งเสริมสร้างความร่วมมือตามพันธสัญญาของเกาหลีใต้กับประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น โดยเน้นค่านิยม หลักนิติธรรม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และประเด็นอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเราจะมีการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์กันในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อพัฒนาไปสู่การยกระดับความร่วมมือให้สูงขึ้น เช่น การเจรจาเชิงกลยุทธ์ หรือกำหนดสาขาความร่วมมือที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน” เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย กล่าว
สัมพันธ์ไทย -เกาหลีใต้ยาวนานกว่า 6 ทศวรรษ
ปีนี้ครบรอบ 65 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - เกาหลีใต้ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในอาเซียน ที่มีบทบาทสำคัญในการนำมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) มาใช้กับความริเริ่มเกาหลีใต้ในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง ขณะเดียวกันยังมีความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง
โดยที่ไทยมองหาความร่วมมือเพิ่มเติมกับเกาหลีใต้ผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือหลักที่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 ประเทศแสดงความเป็นเจ้าของร่วมกัน
“ผมเชื่อว่า ความร่วมมือที่มีต่อไทยจะเป็นส่วนสำคัญผลักดันการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกใหม่ของเกาหลีใต้และอาเซียน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ครอบคลุมระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรก” ซึง-ฮย็อนกล่าว
อดกลั้นต่อสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี
ท่ามกลางความห่วงกังวลสถานการณ์ปัจจุบันในคาบสมุทรเกาหลี เช่น เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) จะเป็นความท้าทายทางจริยธรรมในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้กล่าวว่า ทุกประเทศมีอิสระในการวางนโยบายประเทศของตนเอง ซึ่งสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีทำให้เกาหลีใต้อยู่ในภาวะอดทนและอดกลั้นต่อการยั่วยุของเกาหลีเหนือที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบที่ขยายวงกว้างไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งอาเซียนด้วย
“ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ไม่ได้แค่พยายามมีส่วนร่วมกับเกาหลีเหนือ แต่ได้แสดงจุดยืนที่แน่วแน่ต่อการยั่วยุของเกาหลีเหนือ ตอนนี้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลียังไม่คลี่คลาย แต่เราจะพยายามทำให้ดีที่สุดและให้ความสำคัญกับประเทศในคาบสมุทรมากขึ้น แม้เกาหลีเหนือจะพยายามสั่นคลอนเสถียรภาพก็ตาม” เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ กล่าว
‘เกาหลีเหนือ’บั่นทอนความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก
“ในช่วง 2-3 ปีนี้ เกาหลีเหนืออหังการมากขึ้น และท้าทายสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปและขีปนาวุธประเภทอื่นๆ เพื่อสั่นคลอนความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีอย่างต่อเนื่อง และทำให้สูญเสียทรัพยากรอย่างที่ไม่ควรจะเป็น แต่เราก็มองเห็นโอกาสความร่วมมือกับประเทศต่างๆในอินโด-แปซิฟิกด้วย” เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ กล่าว
ท่านทูต กล่าวด้วยว่า นับตั้งแต่เปิดตัวยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2565 แม้จะมีข้อจำกัดบางประการ และต้องเผชิญความท้าทายจากเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีใต้จะใช้ช่วงเวลาเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เช่น การส่งเสริมบริษัทเกาหลีใต้ในไทย และประเทศต่างๆ ในอาเซียนให้มีความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ตลอดจนหลอมรวมความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้มากขึ้น
‘เกาหลีใต้’ มองไทยเป็นโอกาสการลงทุน
สำหรับความร่วมมือที่มีกับประเทศไทย เมื่อปีที่แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้พบปะหารือประธานาธิบดียุน ซ็อก ย็อล ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ยืนยันความร่วมมือพร้อมก้าวย่างสู่ 66 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขับเคลื่อนความสัมพันธ์สู่ความมั่นคง และยั่งยืน ทั้งแบบทวิภาคี และพหุภาคี
ผู้นำทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเร่งเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งเกาหลีใต้รับทราบแผนดำเนินการของไทย เร่งผลักดันกลยุทธ์ “3 แกนสร้างอนาคต” ในการพัฒนาประเทศ เน้นการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และภาคการธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับความสนใจ ศักยภาพและจุดแข็งของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งภาคเอกชนเกาหลีใต้มีความสนใจและหวังที่จะลงทุนใน EEC
ซึง-ฮย็อน กล่าวด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการค้าเกาหลีใต้และไทยสูงเป็นประวัติการณ์ 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งในฐานะเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ มองว่า ไทย เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ในฐานะที่มีประชากร 70 ล้านคน และยังมีสถานะทางเศรษฐกิจดีเป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มองเห็นโอกาสความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ไม่สิ้นสุด