อ่าน ‘ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา’ เข้าใจ‘สี จิ้นผิง’
สัปดาห์นี้ถือว่าทั้งโลกจับจ้องมองจีน เพราะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง “เล่นใหญ่” เดินทางไปเยือนมอสโก พบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แบบสวีทหวาน ต่างฝ่ายต่างเรียกกันว่า “เพื่อนรัก” ส่วนประโยชน์โพดผลของทริปสันติภาพตามคำเรียกของจีนต้องดูกันต่อไป เพราะอย่างไรเสียบทบาทพญามังกรในเวทีโลกยังต้องติดตามชนิดตาไม่กะพริบ
ในวาระที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (หลายคนคุ้นกับชื่อนี้) จะกลับมาอีกครั้งระหว่างวันที่ 30 มี.ค.-9 เม.ย. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือเป็นโอกาสสำหรับการหาหนังสือดีๆ เกี่ยวกับจีนมาอ่าน หนึ่งในนั้นคือ “ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา” ของสองนักวิชาการคู่พ่อ-ลูก “โกวิท-วาสนา วงศ์สุรวัฒน์” จริงๆแล้วหนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่งานหนังสือครั้งก่อนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ แต่จะอ่านตอนไหนก็ไม่ล้าสมัย เพราะคนไทยตื่นตัวสนใจเรื่องจีนมาก ที่ต้องใช้ชื่อหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา” ผู้เขียนอธิบายว่า เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและประกาศนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 1978 ประเทศจีนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากยุคเหมา เจ๋อตง ส่วนจุดจบของประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา โกวิท-วาสนา เลือกที่จะจบด้วยการอุบัติขึ้นของโควิด-19 ที่พบครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นของจีน และได้สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ทั้งยังเป็นจุดหักเหสำคัญทางเศรษฐกิจ การเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย เรียกได้ว่าจบลงในช่วงเวลาที่ผู้อ่านนึกภาพออก
จากกรอบเวลาของหนังสือ แม้จะใช้คำว่า “หลังเหมา” แต่โกวิท-วานาได้สรุปถึงความเป็นมาของสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคเหมา เจ๋อตงเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะการปฏิวัติวัฒนธรรมระหว่างปี 1966-1976 คนไทยหลายคนล้วนเคยได้ยินคำว่า ปฏิวัติวัฒนธรรม แต่คืออะไร ยังไงกันแน่คนรุ่นหลังอาจไม่ทราบชัดเจน หนังสือเล่มนี้ช่วยอธิบายให้เห็นภาพจนเข้าใจได้ว่าทำไมเติ้ง เสี่ยวผิงถึงต้องปฏิรูปและเปิดประเทศในยุคต่อมาเมื่อเขาขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดหลังการอสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง จากนั้นหนังสือกล่าวถึงรายละเอียดของจีนในแต่ละยุคสมัย ได้แก่ ยุคปฏิรูปภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง, ก้าวสู่ศตวรรษจีนกับเจียง เจ๋อหมินและหู จิ่นเทา, ความเป็นอภิมหาอำนาจโลกกับทศวรรษแห่งวิกฤตการณ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งจีนทั้งสามยุคภายใต้ประธานาธิบดีสี่คนมีรายละเอียดที่น่าสนใจมาก บางเรื่องเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายๆ คนด้วยซ้ำไป หรือบางคนอาจจะเคยรู้แต่ลืมไปแล้วการอ่านหนังสือก็ถือเป็นโอกาสได้ทบทวนความทรงจำ
ตัวอย่างเช่น การปราบปรามลัทธิฝ่าหลุนกง ข่าวดังช่วงกลาง-ปลายทศวรรษ 90 ที่ตอนแรกรัฐบาลจีนเห็นว่ามีประโยชน์ แต่เมื่อหัวหน้าลัทธิปฏิเสธแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ต้องแตกหักถึงขั้นปราบปรามไม่ให้ได้ผุดได้เกิดจนถึงทุกวันนี้ หรือการก่อตั้งองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ที่จีนสร้างความร่วมมือกับเพื่อนบ้างทางตะวันตกและตอนเหนืออดีตเส้นทางสายไหม อ่านแล้วเพิ่งทราบว่าองค์กรนี้มีทั้งความเป็นนาโตและโอเปครวมอยู่ในที่เดียวกัน ฟังดูแล้วน่าจะปังแต่กลายเป็นว่าองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้จะปังก็ไม่ใช่จะแป้กก็ไม่เชิงด้วยปัจจัยใดเห็นทีต้องหาอ่านกันเองในหนังสือ
การสร้างซอฟต์เพาเวอร์ของจีนก็ถูกกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นการจัดโอลิมปิกที่ปักกิ่งในปี 2008 และเวิลด์เอ็กซ์โปปี 2010 รวมถึงสถาบันขงจื่อตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไทยก็มีด้วย เหล่านี้คือเครื่องมือซอฟต์เพาเวอร์ทั้งสิ้น เกิดขึ้นในยุคที่เศรษฐกิจจีนรุ่งเรือง เป็นสมัยประธานาธิบดีคนใดต้องตามไปอ่าน
พัฒนาการของหนึ่งประเทศสองระบบ ความสัมพันธ์กับไต้หวันและฮ่องกงเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจ โดยเฉพาะมุมมองเรื่องนโยบายจีนเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์บนแผ่นดินใหญ่กับพรรคก๊กมินตั๋งของไต้หวัน ท่าทีแข็งกร้าวของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินมีที่มาที่ไป ส่วนนโยบายแถบและทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดว่าทำไมสี จิิ้นผิง จำต้องแหวกขนบพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นเป็นผู้นำสมัยที่ 3
ในภาพรวม “ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา” แม้เขียนกันสองคนแต่อ่านได้รื่นแบบไร้รอยต่อ ผลงานของสองนักวิชาการเล่มนี้เป็นการเล่าด้วยภาษาง่ายๆ เหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง อ่านแล้วไม่เครียดเหมือนอ่านตำราวิชาการ และด้วยข้อมูล “อวยจีน” ที่หาได้เต็มไปหมดในหน้าสื่อไทย การกล่าวถึงจีนแบบ “ว่ากันตามเนื้อผ้า” ของโกวิทและวาสนา จึงทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นขึ้นมาทันที ข้อมูลในหนังสือเหมาะกับผู้อ่านทุกกลุ่มไม่ว่าจะเชียร์จีนหรือไม่ชอบจีนอ่านแล้วได้ประโยชน์ถ้วนหน้า
แน่นอนว่า การอ่านหนังสือเพียงเล่มเดียวไม่ช่วยให้รู้จักจีนทะลุปรุโปร่ง แต่การอ่าน “ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา” มีข้อดีตรงที่ช่วยให้ข้อมูลพื้นฐานแบบย่อยง่ายสำหรับการไปต่อยอดอ่านเรื่องจีนเล่มอื่นๆ ตามรสนิยมของผู้อ่านแต่ละคน และที่เวิลด์พัลส์มั่นใจมากสำหรับคนชอบข่าวต่างประเทศคือการอ่าน “ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา” ช่วยให้ติดตามข่าวจีนได้อรรถรสมากขึ้นอย่างแน่นอนในช่วงเวลาที่จีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิง กำลังแสดงตัวเป็นผู้สร้างสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งชวนให้คิดต่อว่า Pax Sinica จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่