ไอเอ็มเอฟเตือน สหรัฐ-จีนตึงเครียด จีดีพีโลกเสียหาย 2%
ไอเอ็มเอฟรายงานว่า ความตึงเครียดของโลกอาจทำลายการลงทุนต่างประเทศจนจีดีพีโลกเสียหาย 2% ในระยะยาว ตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบเป็นพิเศษ
Key points:
- ไอเอ็มเอฟเตือนการย้ายการผลิตกลับบ้านหรือไปยังประเทศที่ไว้ใจได้ จะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแตกกระจัดกระจาย
- การสำรวจล่าสุดโดยหอการค้าอเมริกันในจีนได้ผลคล้ายๆ กันว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มหันเหออกจากจีน
- ตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบเป็นพิเศษจากเข้าถึงการลงทุนจากเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้น้อยลง
รายงานจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่ในวันพุธ (5 เม.ย.) ตามเวลาสหรัฐ เตือนว่า บริษัทและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกกำลังสำรวจหนทางทำให้ซัพพลายเชนของตนยืดหยุ่นยิ่งขึ้น “ด้วยการย้ายการผลิตกลับบ้านหรือไปยังประเทศที่ไว้ใจได้” นี่จะทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศแตกกระจัดกระจาย
กฎหมายหลายฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ที่ออกมาท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนเพิ่มขึ้นทุกขณะ เช่น กฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลวอชิงตัน หรือญี่ปุ่นออกกฎหมายควบคุมอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 23 รายการ เป็นการร่วมวงกับสหรัฐเพื่อควบคุมความสามารถในการผลิตชิปก้าวหน้าของจีน
การสำรวจล่าสุดโดยหอการค้าอเมริกันในจีนได้ผลคล้ายๆ กันว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มหันเหออกจากจีน เป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่ผู้ให้ข้อมูลไม่ถึงครึ่งหนึ่งจัดให้จีนเป็นปลายทางลงทุนสามอันดับแรก
นักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เงินกำลังไหลไปยังประเทศที่ถูกมองว่าใกล้ชิดทางภูมิรัฐศาสตร์ การสนับสนุนมิตรประเทศที่เพิ่มมากขึ้นอาจสร้างความเสียหายให้กับตลาดพัฒนาน้อยกว่าได้มากที่สุด
“ตลาดเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบเป็นพิเศษจากเข้าถึงการลงทุนจากเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วได้น้อยลง เนื่องจากการก่อตัวของทุนลดลง ผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีและโนว์ฮาวที่ดีขึ้นต้องลดลงเช่นกัน”
สิ่งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐเพิ่มมากขึ้น หลังการพบกันล่าสุดระหว่างนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินของไต้หวันในแคลิฟอร์เนีย รัฐบาลปักกิ่งข่มขู่อย่างเปิดเผย ให้คำมั่นว่าจะ “ดำเนินการอย่างเด็ดขาด” ตอบโต้ “การยั่วยุ”
แม้ประเทศทรงอิทธิพลมากกว่าได้ประโยชน์จากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น แต่ประโยชน์เหล่านั้นอาจถูกลบล้างไปบางส่วนเนื่องจากผลต่อเนื่องจากการที่ความต้องการภายนอกซบเซา
“โลกที่แตกแยกดูเหมือนจะเป็นโลกที่ยากจนลง”
เสี่ยงเสียหายไม่รู้ตัว
ไอเอ็มเอฟโต้แย้งว่า แม้การ “จัดทัพ” ซัพพลายเชนเสียใหม่ตามพันธมิตรทางภูมิรัฐศาสตร์อาจเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงแห่งชาติของประเทศหนึ่งๆ และได้เปรียบคู่แข่ง แต่ก็มีผลเสียตามมาเช่นกัน
“การย้ายห่วงโซ่อุปทานมายังพันธมิตรที่มีอยู่มักลดความหลากหลายและทำให้ประเทศต่างๆ เสี่ยงเกิดการกระทบกระเทือนของเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว”
ส่วนที่ไอเอ็มเอฟเคยกล่าวเมื่อปีก่อนว่า การเพิ่มความหลากหลายของซัพพลายเชนในการค้าโลกจะช่วยลดผลกระทบจากความเสียหายที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้ ปีนี้ไอเอ็มเอฟยังยืนยันเช่นเดิม แม้แต่สำหรับเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว การที่บริษัทต่างประเทศเพิ่มการแข่งขัน “กระตุ้นให้กิจการภายในประเทศมีผลิตภาพยิ่งขึ้น”
พร้อมเตือนว่า ควรลดความไม่แน่นอนทางนโยบาย เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสียหายจากการแตกแยก
“ในโลกที่แตกแยกจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูง นักลงทุนอาจกังวลว่าเขตเศรษฐกิจที่ไม่เข้าข้างไหนอาจถูกบีบให้ต้องเลือกข้างหรือกลุ่มในอนาคต ซึ่งความไม่แน่นอนเช่นนี้มีแต่จะเพิ่มความเสียหาย”