สงครามสู้รบใน ‘ซูดาน’ เขย่าโลกแรงกว่าที่คิด

สงครามสู้รบใน ‘ซูดาน’ เขย่าโลกแรงกว่าที่คิด

การต่อสู้ในซูดานระหว่างกองทัพ กับกองกำลังกึ่งทหาร ทำให้ประเทศซูดานตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการล่มสลาย และอาจส่งผลเสียร้ายแรงเกินขอบเขต นั่นหมายถึงซูดานต้องเสี่ยงเผชิญแรงกดดัน และการคว่ำบาตรเศรษฐกิจจากต่างชาติ

กองทัพซูดานกับกองกำลังกึ่งทหาร ทั้งสองฝ่ายต่างมีนักรบหลายหมื่นคน พร้อมกับต่างชาติที่คอยให้การสนับสนุน ซึ่งไม่นับรวมความมั่งคั่งของเหมืองแร่ และทรัพยากรต่างๆ ที่จะเป็นแหล่งทุนหล่อเลี้ยงกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องถูกมาตรการคว่ำบาตรจากต่างประเทศ 

นับเป็นเวลานานหลายปี ซูดานต้องเผชิญ “สถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ มันเป็นสูตรสำเร็จความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ทำลายล้างประเทศ และประชาชนต้องตายทั้งเป็น โดยสามารถพบเห็นลักษณะนี้ในหลายๆ ประเทศในตะวันออกกลาง และแอฟริกา ตั้งแต่เลบานอน ซีเรีย ไปจนถึงลิเบีย และเอธิโอเปีย

“การต่อสู้เริ่มต้นขึ้นในขณะที่ซูดานพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่เมื่อมีกลุ่มที่เห็นต่างได้ต่อต้านอย่างรุนแรง” ซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคน ขณะที่คนที่อยู่ก็ต้องมีชีวิตท่ามกลางเสียงปืน ระเบิดและการปล้นสะดม 

แล้วความขัดแย้งนี้ จะส่งผลกระทบขยายไปนอกประเทศซูดานอย่างไร ก่อนไปถึงจุดนั้น เพื่อความเข้าใจ จึงขอเล่าย้อนรอยเรื่องราวความขัดแย้ง

รู้จักผู้เล่นหลักสู้รบในซูดาน

พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ บูร์ฮาน หัวหน้ากองกำลัง และ พล.อ.โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หัวหน้ากลุ่มทหารที่รู้จักกันในนามกองกำลัง ซึ่งเติบโตมาจากกลุ่มติดอาวุธ Janjaweed ที่มีชื่อเสียงของดาร์ฟู ต่างก็พยายามเข้ายึดอำนาจควบคุมซูดาน เป็นเวลา 2 ปีหลังจากที่พวกเขาร่วมกันทำรัฐประหาร และขัดขวางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นหลังจากผู้ประท้วงในปี 2562 ช่วยบีบให้โค่นล้มอำนาจเผด็จการโอมาร์ อัล-บาชีร์  (Omar al-Bashir) มายาวนาน ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการเจรจาเพื่อกลับไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย

"ผู้ชนะ" ในการสู้รบครั้งล่าสุดมีแนวโน้มที่จะเป็น "ประธานาธิบดีซูดานคนต่อไป" โดยผู้แพ้จะต้องถูกเนรเทศ ถูกจับกุม หรือเสียชีวิต สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมายาวนานหรือการแบ่งแยกประเทศอาหรับ และแอฟริกาออกเป็นดินแดนที่เป็นคู่แข่งกันก็เป็นไปได้เช่นกัน

“อเล็กซ์ เดอ วาลล์” ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยทัฟส์ เขียนบันทึกส่งถึงเพื่อนร่วมงานเมื่อกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า ต้องมองความขัดแย้งในซูดานเป็น “สงครามกลางเมือง” และหากปล่อยไว้ ไม่ทำให้ยุติเร็ววัน จะทำให้ความขัดแย้งกลายเป็น "เกมที่ซับซ้อน" มากขึ้น มีทั้งผู้เล่นระดับภูมิภาคและนานาชาติเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของพวกเขา โดยอ้างว่าจะแลกกับการให้ความช่วยเหลืองบประมาณทางทหาร อาวุธหรือเสบียง เป็นต้น

‘เพื่อนบ้าน’ ตัวเปลี่ยนเกมสงครามกลางเมืองซูดาน

ซูดานเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของแอฟริกา ถ้าวัดขนาดพื้นที่ประเทศ และที่ตั้งซึ่งครอบคลุมแม่น้ำไนล์บางส่วน โดยที่ซูดานต้องแชร์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแม่น้ำไนล์นี้ให้กับอียิปต์ และเอธิโอเปียซึ่งเป็นประเทศร่วมภูมิภาคอย่างไม่เต็มใจเท่าไรนัก 

ขณะที่แม่น้ำไนล์หล่อเลี้ยงประชาชนอียิปต์กว่า 100 ล้านคน และเอธิโอเปียกำลังดำเนินการสร้างเขื่อนต้นน้ำขนาดมหึมาที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับทั้งชาวอียิปต์ และซูดาน

อียิปต์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพของซูดาน ซึ่งมองว่าเป็นพันธมิตรกับเอธิโอเปีย ไคโรได้ติดต่อทั้งสองฝ่ายในซูดานเพื่อกดดันให้หยุดยิง แต่จุดยืนอาจเปลี่ยนแปลงได้ หากกองทัพซูดานเผชิญกับความพ่ายแพ้

ซูดานมีพรมแดนติดกับอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ลิเบีย ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เอริเทรีย และซูดานใต้ ซึ่งแยกตัวออกมาในปี 2554 และครอบครองทรัพยากรน้ำมัน 75% ของคาร์ทูม เกือบทั้งหมดติดหล่มอยู่ในความขัดแย้งภายในของตนเอง โดยมีกลุ่มกบฏหลายกลุ่มที่ปฏิบัติการตามแนวชายแดน และซ่องสุมอยู่ไปทั่ว

 “อลัน บอสเวลล์” จาก International Crisis Group กล่าวว่า ความขัดแย้งภายในประเทศซูดานไม่ได้ถาวร แต่ (การสู้รบ) ยิ่งยืดเยื้อเท่าไร เรายิ่งจะเห็นการแทรกแซงจากต่างชาติครั้งใหญ่และมากขึ้น

บทบาทชาติตะวันตกกับการเปลี่ยนแปลงซูดาน

ซูดานกลายเป็นกลุ่มนอกรีตระหว่างประเทศ เมื่อโอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ มีบทบาทนำในศตวรรษ 1990 เมื่ออัล-บาชีร์ให้อำนาจแก่รัฐบาลอิสลามิสต์สายแข็ง

ความโดดเดี่ยวยิ่งรุนแรงขึ้น เหตุความขัดแย้งในภูมิภาคดาร์ฟูทางตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อกองกำลังซูดาน และกลุ่ม Janjaweed ถูกกล่าวหาว่า กระทำการทารุณโหดร้ายในขณะที่ปราบปรามการก่อจลาจลในท้องถิ่น ในที่สุดศาลอาญาระหว่างประเทศได้ตั้งข้อหาอัล-บาชีร์  ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สหรัฐถอดซูดานออกจาก “บัญชีรายชื่อประเทศสนับสนุนการก่อการร้าย” หลังจากรัฐบาลในเมืองคาร์ทูมตกลงที่จะปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลในปี 2563

แต่เงินกู้ และความช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์ถูกระงับหลังการรัฐประหารในปี 2564 สงครามในยูเครนและภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ

อำนาจต่างชาติหยุดการสู้รบได้หรือไม่

ความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของซูดาน  ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อกดดันให้ทั้งสองฝ่ายยุติลง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับซูดาน ก็คงเช่นเดียวกับประเทศในแอฟริกาที่อุดมด้วยทรัพยากรอื่นๆ ซึ่งกลุ่มติดอาวุธได้แอบค้าแร่ธาตุที่หายาก และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มาช้านาน

ดากาโล ผู้เลี้ยงอูฐในเมืองดาร์ฟู ซึ่งมีฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ และกิจการขุดทอง เขายังเชื่อว่า จะยังได้รับค่าตอบแทนอย่างดีจากประเทศในอ่าว ท่ามกลางปฏิบัติการของกลุ่มกองกำลังกึ่งทหาร (Rapid Support Forces : RSF) ในเยเมนที่ต่อสู้กับกลุ่มกบฏที่มีแนวร่วมอิหร่าน

กองทัพซูดานควบคุมเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของประเทศไว้ได้ และยังสามารถพึ่งพานักธุรกิจในคาร์ทูม และตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์ที่ได้สร้างความร่ำรวยขึ้น ระหว่างการปกครองอันยาวนานของ อัล-บาชีร์ ขณะที่ RSF ถูกมองว่า เป็นนักรบสัญชาตญาณดิบจากดินแดนห่างไกล

“การควบคุมกองทุนทางการเมืองจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสนามรบ” เดอ วาลล์ กล่าว “(ทหาร) ต้องการจะควบคุมเหมืองทอง และเส้นทางการลักลอบ ซึ่งกองกำลังกึ่งทหาร RSF ต้องการขัดขวางเส้นทางขนส่งหลัก รวมถึงถนนจากท่าเรือซูดานไปยังคาร์ทูม”

ในเวลานี้ มีหลายประเทศยื่นมือเป็นคนกลาง พร้อมจะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งรวมถึงสหรัฐ สหประชาชาติ สหภาพยุโรป อียิปต์ ประเทศในอ่าว สหภาพแอฟริกา และกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันออก 8 ประเทศที่รู้จักกันในชื่อ IGAD แต่ "ความพยายามด้านสันติภาพ" อาจซับซ้อนกว่าสงคราม 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์