‘ชิลี’ฝันใหญ่ นั่งแท่นผู้นำผลิต‘ลิเทียม’โลก
ลิเทียม เป็นหนึ่งในแร่โลหะมีค่าที่กำลังเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกขณะนี้ โดยหลักการแล้ว เราสามารถพบแร่ชนิดนี้ได้เกือบทุกที่ แต่ในความเป็นจริงแรนี้เกรดที่ดีที่สุดคือที่สกัดจากเกลือ
การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสีเขียวทั่วโลก ทำให้ราคาแร่ลิเทียมที่นำมาใช้ผลิตแบตเตอรี ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ พุ่งสูงขึ้นจากราคา 14,000 ดอลลาร์/ตัน เป็นกว่า 80,000 ดอลลาร์/ตัน ในเดือน พ.ย. ปี 2565 และมีคาดการณ์ว่า ขณะที่ราคาแร่ปรับตัวลดลง ความต้องการแร่ลิเทียมอาจเพิ่มขึ้น 40 เท่า ภายในปี 2583
จึงเป็นเหตุผลที่ “กาเบรียล บอริก” ประธานาธิบดีชิลี ประกาศโครงการแร่ลิเทียมแห่งชาติ ผ่านการปราศรัยทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้ จะมีการจัดตั้งบริษัทรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่พัฒนาแร่ลิเทียม คอยสนับสนุน ขยาย และควบคุมอุตสาหกรรมลิเทียมในประเทศ ซึ่งขณะนี้ ชีลิก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตลิเทียมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากออสเตรเลียไปแล้ว
“เราต้องการให้ชิลีเป็นผู้นำด้านการผลิตลิเทียมของโลก พร้อมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลเกลือ" บอกริก กล่าวและว่า รัฐจะถือหุ้น 50.01% ในการร่วมลงทุนกับเอกชน สัญญาปัจจุบันใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ ต้องยอมรับข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อลดหรือไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม มีเงื่อนไขการทำงานที่เป็นธรรมต่อแรงงาน และช่วยเหลือชุมชนชนพื้นเมืองท้องถิ่นในภูมิภาคทะเลทรายอาตากามาเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการสกัดแร่ลิเทียมด้วย
อย่างไรก็ตาม การประกาศว่าจะเป็นผู้นำด้านการผลิตแร่ลิเทียมของรัฐบาลชิลีเจอกระแสต่อต้านและถูกวิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะในประเทศ ซึ่งนักการเมืองหัวอนุรักษ์นิยม กล่าวโทษประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายที่พยายามหวนกลับไปยังยุคของ “ซัลบาดอร์ อาเยนเด” อดีตประธานาธิบดีสังคมนิยมของชิลี ที่ทำให้อุตสาหกรรมทองแดงกลายเป็นของรัฐบาล และปัจจุบันชิลี ก็เป็นประเทศผลิตทองแดงอันดับ 1 ของโลก
สื่อทั่วโลกพากันพาดหัวข่าวว่า บอริกจะทำให้โครงการลิเทียมเป็นของรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงแล้วลิเทียมไม่เหมือนทองแดง รัฐธรรมนูญกำหนดให้แร่ลิเทียมเป็นแร่เชิงยุทศาสตร์และเป็นของรัฐบาล เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะมีการนำแร่นี้ไปใช้ผลิตพลังงานนิวเคลียร์
บอริก ทราบดีว่า ภาคเอกชนและนักเศรษฐศาสตร์หัวอุนรักษ์นิยม มีความกังวลเกี่ยวกับแผนการของเขา บอกริกจึงแถลงผ่านเวทีประชุมเหมืองแร่นานาชาติ เมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.) ว่า “ผมสามารถปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นเป็นไปแบบเดิม โดยไม่ทำอะไร เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ แต่ผมไม่คิดว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดต่อการบริหารจัดการ เรามีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนชีลิ”
โครงการพัฒนาทางสังคมของที่บอริกหลายโครงการต้องการงบประมาณเข้ามาช่วยให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ และลิเทียมเป็นเหมือนทองคำขาวก้อนใหญ่ ที่จะช่วยให้โครงการต่าง ๆ เดินหน้าต่อไปได้
“อีลอน มัสก์” ประธานบริหารเทสลา ทวีตแสดงความเห็นต่อนโยบายลิเทียมของชิลีว่า “ลิเทียมพบได้ทั่วไปในโลก สิ่งสำคัญคือการสกัดแร่”
สำนักข่าวอัลจาซีราห์ วิเคราะห์คำพูดของมัสก์โดยบอกว่า เป็นการใช้คำพูดที่ไม่ผิด เพราะลิเทียมแต่ละที่มีคุณค่าไม่เท่ากัน ความรู้และเทคโนโลยีคือสิ่งสำคัญ แต่แหล่งแร่ลิเทียมก็สำคัญด้วยเช่นกัน
“โจส มิเกล เบนาเวนเต” รองประธาน CORFO หน่วยงานของรัฐบาลชิลีที่ดูแลผู้ประกอบการและนวัตกรรมต่าง ๆ บอกว่า“ชิลียังมีข้อดีเหนือกว่าอิตาลี สหรัฐ และออสเตรเลีย ที่ผลิตแร่ลิเทียมจากหิน เพราะเราสามารถสกัดออกมาได้เลย อาจใช้วิธีที่ซับซ้อน แต่สกัดออกมาได้ง่ายกว่า แค่นำลิเทียมมาเทลงบนพื้นและรอให้แห้ง ประหยัดต้นทุนและได้กำไรมากกว่าออสเตรเลีย ที่ผลิตลิเทียมได้มากกว่า แต่ใช้ต้นทุนสูงกว่า”
ทั้งนี้ รัฐบาลชิลีเตรียมเสนองบประมาณครั้งสุดท้ายเพื่อสร้างบริษัทลิเทียมแห่งชาติ ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และขณะนี้มีบริษัทต่างชาติหลายแห่งเริ่มสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมลิเทียมในชิลีแล้ว