สื่อต่างชาติคาด งบพิธีราชาภิเษกกษัตริย์ชาลส์แตะ 100 ล้านปอนด์
สื่อต่างชาติคาด พระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริชาลส์ที่ 3 อาจใช้งบประมาณสูงถึง 100 ล้านปอนด์ มากกว่าพิธีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า สายตาทั่วโลกต่างจับจ้องไปที่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาลส์ที่ 3 ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค. นี้ และจะเฉลิมฉลองเป็นเวลา 3 วัน จนถึงวันหยุดราชการวันจันทร์ที่ 8 พ.ค. ทั่วกรุงลอนดอนและทั่วสหราชอาณาจักร
ขณะที่ผู้คนนับล้านเตรียมเข้าร่วมชมพิธีแห่งประวัติศาสตร์ แต่การจัดงานดังกล่าวกำลังสวนทางกับเบื้องหลังเศรษฐกิจอังกฤษที่มีความท้าทาย จนหลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการจัดงาน ในช่วงที่ประเทศเผชิญกับวิกฤติค่าครองชีพที่ย่ำแย่ที่สุด
“พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีค่าใช้จ่ายเท่าไร?”
พระราชวังบักกิงแฮมยังไม่เปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายที่แน่นอนของการจัดงาน หรือยังไม่ตอบกลับคำร้องขอจากสำนักข่าวซีเอ็นบีซีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กษัตริย์ชาลส์ที่ 3 ต้องการให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองแบบลดขนาดลง ให้ใช้เวลาที่สั้นลง ขนาดงานเล็กลง และงบประมาณน้อยลง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดบทบาทสถาบันกษัตริย์ของพระองค์ เช่น พิธีในมหาวิหารเวสมินเตอร์จะมีแขกวีไอพีเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของแขกที่เข้าร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แทนที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง
ถึงกระนั้น ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานช่วงสุดสัปดาห์ ซึ่งรวมทั้งขบวนเสด็จของกษัตริย์และคอนเสิร์ตที่มีดารามากมายเข้าร่วมในพระราชวังวินเซอร์ คาดว่าใช้งบประมาณ 50-100 ล้านปอนด์ เป็นข้อมูลคาดการณ์จากสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งไม่ได้อ้างอิงจากแหล่งข่าวทางการ
ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของควีนเอลิซาเบธในปี 1953 ที่ใช้งบ 1.5 ล้านปอนด์ หรือมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน และมีมูลค่ามากกว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 เมื่อปี 1937 มูลค่า 450,000 ปอนด์ หรือเทียบเท่า 24.8 ล้านปอนด์ในสมัยนี้
เงินจัดงานมาจากที่ใด?
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เหมือนงานสาธารณะส่วนใหญ่ที่ใช้เงินจากรัฐบาลอังกฤษหรือเงินภาษีของประชาชน ซึ่งพระราชวังบักกิงแฮมมีส่วนเสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล
ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ชาวอังกฤษบางส่วนไม่พอใจ โดยผลสำรวจจากยูกอฟ พบว่า ประชาชนราว 51% บอกว่าพิธีนี้ไม่ควรใช้เงินของรัฐบาล แต่อีก 18% ไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในขณะเดียวกัน วันหยุดที่เรียกร้องให้มีขึ้นในวันที่ 8 พ.ค. อาจทำให้อังกฤษสูญเสียผลิตภาพไปอีก 1,360 ล้านปอนด์
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อังกฤษต่ำกว่าระดับจีดีพีเมื่อปลายปี 2562 และเป็นเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ G-7 เพียงแห่งเดียว ที่ไม่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 และเงินเฟ้อยังคงสูง โดยมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็น 10.1% ต่อปีเมื่อเดือน มี.ค. อีกทั้งค่าอาหารและเครื่องดื่มพุ่งสูงสุดในรอบ 45 ปี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลยังยืนยันว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจหลายล้านปอนด์ โดยเฉพาะภาคการค้าปลีก การท่องเที่ยว และการบริการ บางคาดการณ์ ระบุว่า ยอดค้าปลีกทั่วไปจะเพิ่มขึ้น 15% ต่อวัน ในวันหยุดนัดขัตฤกษ์
UK Hospitality สมาคมการค้าเพื่ออุตสาหกรรมการบริการ เผยว่า พิธีดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมบริการ 350 ล้านปอนด์ และเมื่อนับรวมวันหยุดธนาคารอีก 2 วันในเดือนนี้ และงานประกวดร้องเพลงยูโรวิชัน ในเมืองลิเวอร์พูล วันที่ 13 พ.ค. อาจสร้างรายได้ให้กับประเทศทั้งหมด 1,000 ล้านปอนด์