ขยาดโควิด-เศรษฐกิจเสี่ยง ชาวจีนแห่ซื้อบ้านในไทย
หลังจากติดอยู่กับล็อกดาวน์โควิดเข้มงวดที่สุดในโลกนานสามปี ทันทีที่เปิดประเทศชาวจีนแผ่นดินใหญ่แห่ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวจีนหลายคนสนใจลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยในต่างแดน เพื่อเป็นตาข่ายความปลอดภัยหากมีโรคร้ายระบาดแบบโควิด-19 อีก ทั้งยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในจีน ซึ่งไทยเป็นประเทศยอดนิยมสำหรับชาวจีน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Trip.com ระบุว่า ช่วงหยุดยาววันแรงงานที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่นักเดินทางชาวจีนออกมาเที่ยวมากที่สุดตามด้วยญี่ปุ่นและไต้หวัน
และหากพิจารณาในแง่การอยู่อาศัยไทยยังมีโรงเรียนนานาชาติดีๆ และโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ ดึงดูดให้มีคนสนใจเข้ามาซื้อบ้านหลังที่ 2
นายแดเนียล เปียน จากเซี่ยงไฮ้เป็นชาวจีนหนึ่งในหลายๆ คนที่มีซื้อคอนโดมิเนียมหรูในกรุงเทพฯ
“ผมรู้สึกมีชีวิตชีวาเป็นอิสระ นี่คือความฝันของผม” นายเปียนกล่าวกับรอยเตอร์ที่ริมสระน้ำคอนโดฯ ด้วยอิริยาบถสบายๆ
ปีนี้คาดว่าจะมีชาวจีนเดินทางเข้าไทยอย่างน้อย 5 ล้านคน บางคนเตรียมมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าตัวเลขยังห่างไกลจากยุคก่อนโควิดอยู่มาก ตอนนั้นชาวต่างชาติมาเยือนไทย 40 ล้านคนเป็นชาวจีนเกือบหนึ่งในสาม
นายมีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ ประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เผยว่า ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในไทยของชาวจีนมีมาก ทำเลหลักที่ลูกค้าสนใจคือเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือ เมืองชายหาดตะวันออกอย่างพัทยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“คนจีนมาซื้อบ้าน ส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ เอาพ่อแม่มาอยู่ไทยให้มาเลี้ยงหลาน” นายมีศักดิ์กล่าว
ข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่า ในเดือนมี .ค. นักท่องเที่ยวจีนมาเยือนไทยเกือบ 270,000 คน สูงสุดในรอบสามปี แต่ก็ยังต่ำมากจาก 985,227 คนในเดือน มี.ค.2562 ก่อนเกิดโควิด
นายเคลวิน โก๊ะ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์กรุงเทพฯ (เอสไอเอสบี) เผยว่า สัดส่วนนักเรียนจีนในโรงเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 12%-13% เมื่อต้นปีนี้ หรือ 400 คน จากนักเรียน 3,100 คนในสี่วิทยาเขต มากกว่า 6% ช่วงก่อนโควิดปี 2562
“ในจีน เวลาปิดเขาปิดทั้งคืน ไม่มีใครออกไปได้ สิ่งนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมชาวจีน” ซีอีโอโรงเรียนดังระบุ
แม้ไทยมีกฎหมายจำกัดการเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติไม่เกิน 49% ของยูนิตแต่ผู้ซื้อที่มีศักยภาพยังหลั่งไหลเข้ามาหานายหน้าซื้อขายบ้านที่จับกลุ่มผู้ซื้อชาวจีนโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น นายโอเวน จู วัย 50 ปี และมารดาวัย 70 ปี มากับนายเปียน มาทัวร์ดูบ้านได้ไปเยี่ยมชมคอนโดฯหรูในกรุงเทพฯ สามแห่งภายในหนึ่งวัน
“หลังโควิดเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ชาวจีนส่วนใหญ่เลือกซื้อคอนโดฯ หรูเพื่ออยู่อาศัย” นายจูกล่าวและว่า ลูกค้าหลายรายที่ก่อนหน้านี้ซื้อบ้านเพื่อลงทุน ตอนนี้มาซื้อที่อยู่อาศัยราคาเกิน 2 ล้านหยวน (9.5 ล้านบาท)
“งบเท่านี้ซื้อได้แค่บ้านพื้นๆ ในเมืองหลักของจีนเท่านั้น แถมทำเลยังไม่ค่อยดี แต่ด้วยเงินจำนวนเท่ากันพวกเขาสามารถซื้อคอนโดฯ หรูใจกลางกรุงเทพฯ ได้เลย ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงขายบ้านในเมืองจีนแล้วมาซื้อบ้านที่นี่สำหรับเกษียณ” จูอธิบายต่อ
นายเปียน ผู้จัดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ เห็นพ้องว่าอยู่ไทยข้อจำกัดน้อยกว่า
“ที่นี่มีเสรีภาพในการเข้าออกประเทศ เดินทางไปนู่นมานี่ รวมถึงเสรีภาพในสังคมและชีวิต เสรีภาพสำคัญมาก” นายเปียนกล่าวทิ้งท้าย
ในประเด็นการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ นายโสภณ พรโชคชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ เคยเขียนบทความว่า การให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ในยุโรป อันได้แก่ เยอรมนี สเปน อิตาลี และในสหรัฐ ประเทศเหล่านี้มีระบบภาษีที่ดีที่ป้องกันการบุกรุกของทุนจีน แตกต่างจากในประเทศอินโดจีน รวมทั้งประเทศไทยของเรา เช่น
1. มีภาษีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ 10%-20% โดยเฉพาะหากซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่บ้าน เช่น กิจการไปประกอบธุรกิจ ต้องเสียภาษีอย่างหนัก
2. มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายปี 1%-3% ของมูลค่าตลาด แต่ของไทยเก็บที่ 0.02% ของราคาประเมินราชการซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดมาก และต้องเป็นบ้านที่มีราคา 50 ล้านบาทตามราคาประเมินราชการขึ้นไปจึงจะเสียภาษีนี้ เรียกว่าแทบไม่เก็บภาษีคนต่างชาติเลย
3. ประเทศตะวันตกยังเก็บภาษีกำไรจากการขายต่อ ไทยเราก็แทบไม่เก็บ