ราคาบ้านสิงคโปร์โตแรง แพงสุดในเอเชียแปซิฟิก
ราคาบ้านสิงคโปร์ราคาพุ่ง แซงหน้าราคาบ้านในฮ่องกง จนกลายเป็นเมืองที่บ้านราคาแพงที่สุดในโลก และค่าเช่าบ้านสิงคโปร์แบบรายเดือน ยังแพงมากกว่าค่าเช่าบ้านของเมืองใหญ่เมืองอื่น ๆ เช่นกัน
Key Points:
- ราคาบ้านส่วนตัวในสิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 มากกว่าราคาบ้านฮ่องกง ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 1.16 ล้านดอลลาร์
- การไหลออกของประชากรสุทธิ และมุมมองแง่บวกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง ฉุดราคาบ้านเฉลี่ยในฮ่องกงร่วงลง 8.7% สู่ระดับ 1.16 ล้านบาท ในปี 2565
- ส่วนราคาบ้านส่วนตัวในเมืองซิดนีย์และเมลเบิร์นลดลง เนื่องจากประชาชนจำนวนมากย้ายกลับไปอยู่นอกเมืองมากขึ้น และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 11 ในรอบ 12 เดือน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ข้อมูลดัชนีการครอบครองบ้าน จากศูนย์ที่อยู่อาศัยแห่งเอเชียแปซิฟิก ของสถาบันที่ดินในเมือง (ยูแอลไอ) เผยว่า ราคาบ้านส่วนตัวในสิงคโปร์เฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 ล้านดอลลาร์ในปี 2565 มากกว่าราคาบ้านฮ่องกง ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 1.16 ล้านดอลลาร์ และบ้านเช่าส่วนตัวในสิงคโปร์มีค่าเช่ารายเดือนแพงที่สุดในภูมิภาคอยู่ที่ 2,600 ดอลลาร์ ซึ่งมีราคาแพงมากกว่าเมืองอื่น ๆ มาก เช่น ซิดนีย์ เมลเบิร์น และฮ่องกง
รายงานดังกล่าวศึกษาข้อมูลทางสถิติของรัฐบาลจาก 45 เมืองในตลาดที่อยู่อาศัยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และนำมาคำนวณการครอบครองบ้าน ทั้งบ้านที่ครอบครองเองและการเช่าบ้านเทียบกับรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนต่อปี
ฮ่องกง VS สิงคโปร์
ยูแอลไอ ระบุว่า ราคาบ้านในฮ่องกงลดลงอย่างมากในปี 2565 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น เพราะฮ่องกงต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้เทียบเท่าธนาคารกลางสหรัฐ
ในเดือน ต.ค. 2565 ราคาบ้านฮ่องกงร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566 เจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายการเงินของฮ่องกง ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5.5% หลังธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 5% เป็น 5.25%
รายงานของยูแอลไอ ระบุอีกว่า การไหลออกของประชากรสุทธิ และมุมมองในแง่บวกต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง ฉุดราคาบ้านเฉลี่ยในฮ่องกงร่วงลง 8.7% สู่ระดับ 1.16 ล้านบาท ในปี 2565 จากเดิมราคาบ้านเฉลี่ยอยู่ที่ 1.27 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ทำให้ราคาบ้านส่วนตัวของสิงคโปร์แซงหน้าฮ่องกง จนกลายเป็นเมืองที่ราคาบ้านแพงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีราคาบ้านเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 8% ในปีก่อน
เมื่อเดือน เม.ย. สิงคโปร์ปรับขึ้นภาษีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางความกังวลว่าราคาบ้านที่พุ่งสูงอาจนำหน้าการเติบโตของเศรษฐกิจ
สำหรับมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัย รัฐบาลสิงคโปร์ เผยว่า ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ จะต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น หรือที่ทราบกันดีว่า เป็นภาษีอาการที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องจ่ายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านส่วนตัวในฮ่องกงยังคงมีราคาแพงที่สุดเมื่อดูจากราคาต่อรางเมตรอยู่ที่ 19,768 ดอลลาร์ ซึ่งแพงกว่าสิงคโปร์, เซินเจิ้น และกรุงปักกิ่ง
ราคาเช่าสุดแพง
ค่าเช่าบ้านรายเดือนของสิงคโปร์แพงที่สุดในภูมิภาค ซึ่งค่าเช่าพุ่งสูงขึ้นเกือบ 30% เมื่อปี 2565
ยูแอลไอ เผยว่า ค่าเช่าบ้านและราคาบ้านเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น ประชากรอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศมากขึ้น, การก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง และแรงงานที่มีคุณภาพย้ายออกจากบ้านที่ครอบครัวอาศัยอยู่มาหลายชั่วอายุ เพื่อไปอยู่ในบ้านที่กว้างขวางและมีเสรีภาพมากกว่านี้
ส่วนราคาบ้านส่วนตัวในเมืองซิดนีย์และเมลเบิร์นลดลง เนื่องจากประชาชนจำนวนมากย้ายกลับไปอยู่นอกเมืองมากขึ้น และมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 11 ในรอบ 12 เดือน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
อย่างไรก็ตาม บ้านและอพาร์ตเมนต์ทั่วซิดนีย์ เมลเบิร์น และบริสเบน มีค่าเช่ารายเดือนเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น โดยค่าเช่าบ้านในซิดนีย์รายเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,958 ดอลลาร์ ขณะที่อพาร์ตเมนต์มีค่าเช่าเฉลี่ย 1,732 ดอลลาร์
“เดวิด ฟอล์กเนอร์” ประธานฝ่ายที่อยู่อาศัยในเอเชียแปซิฟิกจากยูแอลไอ ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า “ประชาชนย้ายกลับเข้าเมืองหลวงตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิ้นสุดลงในปี 2565 จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้ค่าเช่าบ้านรายเดือนเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น”
การถือครองบ้านยังคงสูง
แม้ราคาบ้านส่วนตัวในสิงคโปร์แพงที่สุดในภูมิภาค แต่ประเทศยังมีอัตราถือครองบ้านสูงสุดที่ 89.3% ทั้ง ๆ ที่ราคาบ้านเฉลี่ยของโครงการเอชดีบีในปี 2565 เพิ่มขึ้น 7.9% จากปี 2564 และอัตราส่วนราคาบ้านเฉลี่ยของโครงการเอชดีบีต่อรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยรายปี เพิ่มขึ้นจาก 4.5 เป็น 4.7 ส่วนราคาบ้านส่วนตัวเฉลี่ยในสิงคโปร์ต่อรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 13.7
ทั้งนี้ โครงการ เอชดีบี หรือการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ คือ โครงการที่อยู่อาศัยของรัฐบาลสิงคโปร์
รายงาน ระบุว่า โดยทั่วไปเจ้าของบ้านไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ หากอัตราส่วนราคาบ้านเฉลี่ยต่อรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยรายปี สูงกว่า 5 แต่มีเพียงบ้านในโครงการเอชดีบีของสิงคโปร์ รวมทั้งอพาร์ทเมนต์ในเมลเบิร์นและบริสเบน ในออสเตรเลียเท่านั้น ที่ยังทำให้คนซื้อบ้านได้
สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ หลายเมืองมีอัตราการครอบครองบ้านอยู่ในอันดับที่ต่ำ และรายงานย้ำว่า อัตรการถือครองบ้านในจีนลดลงอย่างมาก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
“การครอบครองที่อยู่อาศัยในหลายเมืองของจีน มีความเชื่อมโยงกับปริมาณที่อยู่อาศัยโดยตรง เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของประชากร โดยในเมืองเซินเจิ้น มีประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 ล้านคน ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา จากปี 2553-2565 แต่ที่อยู่อาศัยใหม่เติบโตเพียง 31 ล้านตารางเมตร ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในบรรดาเมืองใหญ่ ๆ ของจีน เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน” รายงาน ระบุ