"เดนมาร์ก" ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก?! | ชิดตะวัน ชนะกุล
เดนมาร์ก เป็นหนึ่งประเทศรายได้สูง ที่ถูกจัดว่ามี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ Gini ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้
ค่า Gini ที่ต่ำแสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ต่ำ จากข้อมูลของ OECD ล่าสุด พบว่า เดนมาร์กมีค่าสัมประสิทธิ์ Gini ที่ 0.269 ในขณะที่ประเทศรายได้สูงอื่นๆ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐ มีค่าดังกล่าวอยู่ที่ 0.316, 0.355 และ 0.375 ตามลำดับ
บทบาททางการคลังของภาครัฐในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง รวมถึงระบบรัฐสวัสดิการ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เดนมาร์กมีช่องว่างทางรายได้ในระดับต่ำ ในขณะที่ไทยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สหราชอาณาจักร 20% แต่เดนมาร์กเก็บภาษีดังกล่าว 25%
นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีรายได้แบบก้าวหน้า ทำให้ภาระการจ่ายภาษีเพื่อเป็นแหล่งเงินในการสร้างสังคมที่ดีมาจากกลุ่มคนที่มีรายได้สูง
ในปี 2566 หากบุคคลที่อาศัยในกรุงโคเปนฮาเกนมีรายได้ 3 แสนโครนเดนมาร์ก (kr) ต่อปี จะต้องเสียภาษีรายได้รวม 93,218 kr คิดเป็น 31.1% ของรายได้รวม หากมีรายได้ 2 ล้าน kr ต้องเสียภาษีรายได้รวมทั้งหมด 858,124 kr คิดเป็น 42.9% และหากมีรายได้ต่อปีที่ 9 ล้าน kr ต้องเสียภาษีรายได้รวมทั้งหมดคิดเป็น 46.5%
เป็นที่น่าแปลกใจว่า การรายงาน World Happiness โดย Gallup ระบุว่า ชาวเดนมาร์กเกือบ 9 ใน 10 คน “มีความสุขในการจ่ายภาษีระดับสูง”
ชาวเดนมาร์กเห็นว่า แม้ประชาชนในหลายๆ ประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐ และออสเตรเลีย จะเสียภาษีต่ำกว่า แต่พวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อส่งลูกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซื้อประกันสุขภาพ ฯลฯ
ในขณะที่คนเดนมาร์กไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้ การถูกเก็บภาษีเข้ารัฐในสัดส่วนที่สูงจึงเปรียบเสมือนการจ่ายเงินเพื่อได้รับบริการสาธารณะจากรัฐที่มีคุณภาพ
คนเดนมาร์กตระหนักดีว่า การเสียภาษีคือการลงทุนให้สังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ หากสังคมดี พวกเขาก็จะได้รับประโยชน์จากความเป็นอยู่ที่ดีนั้นด้วย
กล่าวคือ การเสียภาษีที่สูงเพื่อให้รัฐนำไปใช้จ่ายในสวัสดิการเรื่องต่างๆ เป็นการลดปัญหาทางสังคม อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน ฯลฯ จนนำมาซึ่งความสุขสงบของประเทศในภาพรวม
ระบบรัฐสวัสดิการ เปิดโอกาสให้พลเมืองสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตจากจุดเริ่มต้นที่ดี โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิหลังทางเศรษฐกิจ แม้จะเกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้น้อย แต่รัฐก็จัดหาบริการสาธารณะ อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ดังนั้น ศักยภาพ ความสามารถของบุคคลหนึ่ง จึงมาจากความพยายาม การทุ่มเทแรงกายแรงใจ มิใช่ได้มาจากการที่มีต้นทุนชีวิตได้เปรียบผู้อื่นมาตั้งแต่เกิด
ในประเด็นดังกล่าวก็ยังเป็นคำถามที่สำคัญว่า เพราะเหตุใดกลุ่มคนที่มีรายได้สูงในเดนมาร์กจึงยินดีเสียภาษีในอัตราที่สูงมาก เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้รัฐนำไปใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการของคนส่วนใหญ่ในสังคม เพราะเขาสามารถใช้เงินตัวเองซื้อการศึกษาที่ดี บริการทางแพทย์ที่มีคุณภาพให้ครอบครัว โดยไม่ต้องพึ่งสวัสดิการจากรัฐอยู่แล้ว
เมื่อครั้งศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกในยุโรป เพื่อนชาวเดนมาร์กของผู้เขียนให้มุมมองในประเด็นนี้ไว้ว่า
“เราถูกปลูกฝังว่า คนที่มีศักยภาพ มีความสามารถสูงกว่า มีหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า เปรียบดั่งปลาใหญ่ช่วยหาอาหารเพื่อให้ปลาเล็กได้เติบโต แข็งแรง จนในที่สุดสามารถดูแลปลาตัวเล็กอื่นๆ ต่อไป เราไม่อยากเป็นปลาใหญ่ที่คอยแต่กัดกินปลาเล็ก เพราะนั่นจะทำให้แม่น้ำที่เหล่าปลาทั้งหลายอาศัยอยู่ไม่สุขสงบ”
การศึกษาที่ผ่านมา พบความเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความสุขในสังคม ในแง่ของความสุข Happiness World Report ปี 2566 ยกให้ประเทศเดนมาร์กครองอันดับ 2 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก เป็นรองเพียงแค่ประเทศฟินแลนด์เท่านั้น
น่าสนใจว่า ประเทศรัฐสวัสดิการเพื่อนบ้านอื่น ได้แก่ ไอซ์แลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ ต่างติดอยู่ใน Top 10 ประเทศที่มีความสุขที่สุดตลอดมา โดยปัจจัยที่ส่งผลถึงความสุขในชีวิตประจำวัน ได้แก่ อายุขัย สุขภาพที่ดี GDP ต่อหัว การสนับสนุนทางสังคม การคอร์รัปชันที่ต่ำ ความเอื้ออาทรในชุมชนที่ผู้คนดูแลซึ่งกันและกัน และความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำ
สังคมที่คนรวยเอารัดเอาเปรียบคนจน แม่น้ำที่ “ปลาใหญ่มีแต่ความโลภกักตุนทรัพยากรเพื่อให้ตัวเองและลูกหลาน” ได้เป็นพี่เบิ้มในลำธารเรื่อยไป ในขณะที่ปลาตัวเล็กตัวน้อย ด้วยกำลังที่ต่ำกว่ามาแต่ต้น ไม่สามารถแย่งชิงอาหารจากปลาที่มีพลังบึกบึนได้ จนท้ายที่สุดกลายเป็นปลาแคระแกร็นรอวันตาย ไม่ใช่นิยามของสังคมเดนมาร์ก
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เดนมาร์กจะเป็นประเทศที่คนทุกคน โดยเฉพาะคนรวย เสียสละจ่ายภาษีที่หนักเพื่อโอบอุ้มสังคม แต่ยังครองความสุขไม่เปลี่ยนแปลง...