70 ปีหลังสงคราม กับ ความเจริญ 'เกาหลีใต้' (1) | กันต์ เอี่ยมอินทรา
ที่จริงแล้ว เมื่อปลายเดือนก่อนมีเหตุการณ์สำคัญของโลกที่น่าจดจำและควรค่าแก่การกล่าวถึง แต่เพราะกระแสที่ร้อนแรงของการเมืองไทยกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่ได้กลบทุกเรื่องสำคัญ
ปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 70 ปี การสิ้นสุดสงครามเกาหลี สงครามครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง และเป็นต้นตอของปัญหาและความตึงเครียดของคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบัน สงครามไม่ได้เพียงแต่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างยับเยิน แต่ในทางสังคมและวัฒนธรรมก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
แต่ผ่านไป 70 ปี เหตุใดเกาหลีใต้จึงมีความเจริญจนทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้วทางตะวันตก เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้วของโลก
จากประเทศที่ย่อยยับจากสงคราม การถูกปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร และจำต้องซึมซับวัฒนธรรมของสหรัฐและญี่ปุ่น กลายมาเป็นบ้านเมืองมีความเจริญทั้งทางเศรษฐกิจและรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญหรือเพราะเหตุอันใดกัน?
มีหลายปัจจัยที่ควรค่าแต่การวิเคราะห์แต่ผมจะขอพูดถึง 2 ประเด็น ที่คิดว่าไทยเราน่าจะเรียนรู้ได้จากการพัฒนาเรียนรู้ได้ และปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งคือ การอุดหนุนอุตสาหกรรมจำเพาะบางประเภท อาทิ เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ที่อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เรียกกันว่า แชโบล อาทิ บริษัทในเครือ Samsung, SK Group, Hyundai, Lucky Goldstar (LG) Group และ Lotte
การอุดหนุนกลุ่มอุตสาหกรรมจำเพาะบางประเภทเหล่านี้ ทำให้เกาหลีมีแต้มต่อทางการค้า เพราะรัฐนั้นสนับสนุนกลุ่มอย่างออกนอกหน้า และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐเลือกสนับสนุนนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกและเข้ากับทิศทางกระแสการพัฒนาของโลก
แต่ในขณะเดียวกัน การอุดหนุนนี้กลับสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น จนกระทั่งเกิดเสียงวิพากษ์แม้กระทั่งว่า GDP เกินกว่าครึ่งของเกาหลีใต้ก็มาจากกลุ่มเหล่านี้
GDP ของเกาหลีใต้เติบโตจนติดอันดับที่ 13 ของโลก หรืออันดับ 4 ของเอเชีย เป็นรองแค่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย แต่ประชากรที่ไม่มาก (ประมาณ 52 ล้านคน) จึงทำให้ GDP per Capita หรือรายได้ที่ประชากรเฉลี่ยหนึ่งคนสร้างให้กับประเทศนั้นจึงสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองแค่เพียงสิงคโปร์ (5.5 ล้านคน) และฮ่องกง (7.4 ล้านคน) ซึ่งถือว่าน้อยมาก
การเลือกอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้ แท้จริงแล้วเป็นโมเดลเดียวกับที่ไทยทำในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน ที่เราอุดหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อย่างออกนอกหน้า ซึ่งก็สร้างผลลัพธ์ที่ดีในระดับหนึ่งภายใต้ช่วงเวลาหนึ่ง
กล่าวคือ ไทยมีรายได้มหาศาลจากการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ และกลายเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อันดับหนึ่งของโลก บริษัทย่อยในไทยนั้นเก่งในการเป็นห่วงโซ่อุปทานให้กับทั้งสองอุตสาหกรรมนี้
แต่ผลปรากฏออกมาชัดเจนแล้วว่า ยังขาดความยั่งยืน ความเชี่ยวชาญของไทยเรานั้นไม่สามารถต่อยอดจนกระทั่งออกผลิตภัณฑ์ของเราได้ ทำให้เราไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเองต่างจากเกาหลีใต้ ที่ตอนนี้แบรนด์เกาหลีเป็นที่นิยมทัดเทียมหรือมากกว่าแบรนด์ที่ทั่วโลกเชื่อว่ามีคุณภาพอย่าง ญี่ปุ่นหรือเยอรมนีแล้ว ขณะที่ราคานั้นก็จับต้องได้หากเทียบกับอีก 2 ประเทศที่กล่าวมา ไม่ต้องพูดถึงดีไซน์ที่มีความทันสมัย
อีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลเกาหลีใต้เลือกที่จะสนับสนุนมาสักระยะและปัจจุบันได้ออกดอกออกผลอย่างสวยงามก็คือ การส่งออกทางวัฒนธรรม Soft power โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งก็ขอยกยอดเล่าให้ฟังต่อในฉบับหน้าครับ