ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจาก ‘โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ’ ลงมหาสมุทรวันนี้
แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายถึงความปลอดภัย จากกรณีปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” แต่รัฐบาลยืนยันทำตามมาตรฐานความปลอดภัยและพร้อมเริ่มดำเนินการวันนี้ (24 ส.ค. 2023)
Key Points:
- จับตา “ญี่ปุ่น” ปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนที่ผ่านการบำบัดแล้วจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ลงมหาสมุทรแปซิฟิกวันนี้
- แม้รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่ได้รับการบำบัดแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายคัดค้าน
- นานาประเทศแสดงออกถึงความไม่พอใจในการกระทำของญี่ปุ่นในครั้งนี้ โดยเฉพาะ “จีน” ขณะที่หลายประเทศเริ่มจำกัดการนำเข้า “อาหารทะเล” จากญี่ปุ่น
แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกบางแห่ง รวมถึงนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ” หรือ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ว่าอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล ไปจนถึงแหล่งอาหารของมนุษย์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีในปลาทะเลที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงาน มีค่าสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด
ทางรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) มีข้อสรุปตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า แผนดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยโลก และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงมหาสมุทรแปซิฟิกในวันนี้ (24 ส.ค. 2023)
- ทำไมต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงมหาสมุทร
ย้อนกลับไปในปี 2011 “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ทำให้เกิดปัญหาระบบหล่อเย็นในโรงงานล้มเหลว จนเครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่อง จากทั้งหมด 6 เครื่อง มีการรั่วไหลต่อเนื่อง
จากความเสียหายดังกล่าวทำให้ในปี 2021 มีน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่กักเก็บไว้บริเวณโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์และแหล่งหล่อเย็นขยะเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นประมาณ 140 ตันต่อวัน และในปี 2022 มีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมากถึงประมาณ 1.285 ล้านตัน ถูกกักเก็บอยู่ในแท็งก์น้ำของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ดังนั้นเมื่อมีน้ำเสียในโรงงานถูกกักเก็บอยู่เป็นจำนวนมากจนใกล้จะเต็มอัตราความจุ ทำให้ Tokyo Electric Power Company (TEPCO) หรือ บริษัท โตเกียวอิเล็กทริกเพาเวอร์ ผู้ดำเนินการ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” วางแผนปล่อยน้ำเสียดังกล่าวลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
ทำให้ในเดือน เม.ย. 2021 อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายโยชิฮิเดะ ซุงะ อนุมัติให้ปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ภายในเวลาประมาณ 2 ปีนับจากปี 2011 ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันออกมายืนยันเมื่อเดือน ม.ค. 2023 ที่ผ่านมา ว่า จะดำเนินการตามแผนดังกล่าวในช่วงฤดูใบไม้ผลิถึงฤดูร้อน และล่าสุดนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุว่า จะเริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเลในวันนี้
อ่านข่าว :
จับตา! ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเลวันพฤหัสบดีนี้
- แม้น้ำเสียจะได้รับการบำบัดแล้ว แต่หลายฝ่ายยังกังวล
หลังรัฐบาลยืนยันว่าจะมีการปล่อยน้ำเสียดังกล่าวลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการคัดค้านเป็นวงกว้าง ข้อมูลจากกรีนพีซญี่ปุ่น ระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลโดยไม่พิจารณาถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชุมชนในญี่ปุ่นและภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงไม่สอดคล้องกับกฎหมายการเดินเรือระหว่างประเทศ และที่สำคัญคือการไม่คำนึงถึงความวิตกกังวลของประชาชนและชาวประมงในพื้นที่
ทั้งนี้ แม้รัฐบาลญี่ปุ่นและ TEPCO ยืนยันว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตัดสินใจทิ้งน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เพื่อปลดระวางโรงไฟฟ้าดังกล่าว จากปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สึนามิ แต่ ฮิซาโยะ ทาคาดะ ผู้จัดการโครงการรณรงค์กรีนพีซญี่ปุ่นกล่าวว่า
“รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่รัฐบาลประกาศดำเนินการปล่อยน้ำ แม้ว่าที่ผ่านมาประชาชนและภาคประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคแปซิฟิกและประเทศเพื่อนบ้าน จะแสดงความวิตกกังวล แต่การตัดสินใจของรัฐบาลครั้งนี้ก็ยังเกิดขึ้น”
รายงานล่าสุดของกรีนพีซญี่ปุ่น ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2023 (นับจากวันที่ 20 เม.ย.) มีปริมาณน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 1,335,381 ลูกบาศก์เมตร ถูกเก็บไว้ในถัง แต่เนื่องจากความล้มเหลวของเทคโนโลยีการประมวลผล ALPS (Advanced Liquid Processing System) ทำให้ปริมาณน้ำร้อยละ 70 ของจำนวนน้ำทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการบำบัดอีกครั้ง แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า น้ำที่กำลังจะถูกปล่อยลงมานั้น ยังไม่ได้รับการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบด้านต่อผลกระทบทางชีวภาพจากไอโซโทปกัมมันตรังสีคาร์บอน-14, สตรอนเทียม-90 และไอโอดีน-129 ที่จะถูกปล่อยออกมาพร้อมกับน้ำเสียดังกล่าว
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกังวล คือ จากการตรวจสอบของทาง TEPCO ตั้งแต่ พ.ค. 2022 พบว่ามีปลาทั้งหมด 44 ตัว ที่ปนเปื้อนสาร “ซีเซียม-137” สูงถึง 18,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (เบคเคอเรล คือ หน่วยวัดปริมาณสารปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่ม)
อ่านข่าว :
ตรวจพบ ‘สารกัมมันตรังสี’ ในปลาทะเลแถบ ‘ฟุกุชิมะ’ เกินกฎหมายกำหนดถึง 180 เท่า
นอกจากนี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2022 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบปลาไหลที่มีสารซีเซียม-137 ปนเปื้อนสูงถึง 1,700 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม และเมื่อเดือน เม.ย. 2023 ก็พบปลาเทราต์ที่มีซีเซียม-137 ปนเปื้อนสูงถึง 1,200 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม คาดว่ายังมีปลาอีกหลายชนิดที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ “จีน” ได้ออกมาตรการทดสอบรังสีต่อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจากญี่ปุ่น เพื่อกดดันให้ญี่ปุ่นระงับแผนปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งสร้างความตึงเครียดทางการทูตตามไปด้วย
- น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ผลกระทบด้านการทูต และการค้า
แน่นอนว่าเมื่อหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับการที่ญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียที่แม้ว่าจะได้รับการบำบัดแล้วจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ที่ได้รับการยืนยันว่า สร้างผลกระทบไม่มาก แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นานาประเทศได้ ด้าน “จีน” ก็เพิ่มการป้องกันความปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมทางทะเลเพื่อสุขภาพของประชาชนเช่นกัน
รายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ซุน เหว่ยตง (Sun Weidong) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า “การกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดความเสี่ยงของมลพิษทางนิวเคลียร์อย่างโจ่งแจ้ง ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนและประชาคมระหว่างประเทศ”
ที่สำคัญทางการจีนยังมองว่าเป็นเรื่องที่ขาดความรับผิดชอบ และเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง ทำให้เกิดความกังวลและจำเป็นต้องต่อต้านอย่างถึงที่สุด
ด้าน “ฮ่องกง” ซึ่งนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่าประมาณ 2.09 แสนล้านเยน มีการยืนยันจาก จอห์น ลี (John Lee) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮ่องกง ผ่านรายงานของ CNBC ว่า ฮ่องกง “คัดค้านอย่างรุนแรง” ต่อการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ และเพื่อตอบโต้ทางการญี่ปุ่น ฮ่องกงจึงประกาศควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นบางรายการ ตั้งแต่อาหารทะเลไปจนถึงสาหร่าย
นอกจากนี้ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับดาวมิชลินในฮ่องกงอย่าง Godenya ระบุว่า จะหาวัตถุดิบหลักในการปรุงอาหารจากที่อื่นมาแทนญี่ปุ่น
ในส่วนของ “เกาหลีใต้” แม้ว่าประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Suk Yeol) จะมองว่าแผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นไม่เป็นปัญหาเท่าไรนัก และเป็นเพียงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเพื่อปลุกปั่นการประท้วงต่อต้านญี่ปุ่น พร้อมออกแถลงการณ์ว่า “ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนแผนดังกล่าว” แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมหลายร้อยคนในเกาหลีใต้ ก็รวมตัวกันที่กรุงโซลเพื่อชุมนุมต่อต้านการปล่อยน้ำเสียในครั้งนี้
ทั้งนี้กลุ่มประมงในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ กังวลว่าการปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วจาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ครั้งนี้ว่า อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในภูมิภาคเอเชียและการดำรงชีวิตของชุมชนชายฝั่ง
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า กระบวนการปล่อยน้ำเสียประมาณ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร (เทียบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิกประมาณ 500 สระ) จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ จะดำเนินต่อไปภายในระยะเวลาอย่างน้อย 30 ปี รวมถึงปฏิเสธข้อร้องเรียนจากทางการจีนที่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องจับตาต่อไปว่าหลังจากนี้ปฏิกิริยาจากนานาชาติจะเป็นอย่างไร
อ้างอิงข้อมูล : Bloomberg, CNBC, The Guardian และ CNA