‘เทปโก-รัฐบาล’มั่นใจปลอดภัย หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล

‘เทปโก-รัฐบาล’มั่นใจปลอดภัย หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนลงทะเล

‘เทปโก-รัฐบาลญี่ปุ่น’มั่นใจปลอดภัย หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ท่ามกลางกระแสคัดค้านของประเทศเพื่อนบ้านและการแบนนำเข้าอาหารทะเลจากหลายประเทศ

 เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.ของวานนี้(24ส.ค.)ญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกด้วยความมั่นใจว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วนี้มีความปลอดภัยเพียงพอต่อทุกชีวิตทั้งสัตว์ประเภทต่างๆในท้องทะเลและผู้คน

น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่สร้างความกังวลแก่ประชาชนในหลายประเทศในขณะนี้ เป็นผลพวงจากภัยพิบัติเมื่อ 12 ปีก่อน โดยเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ปี 2554 เวลาประมาณ 12.45 น. ตามเวลาไทย เกิดแผ่นดินไหว 9 แมกนิจูดทางชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น และจากนั้นไม่นาน ก็เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มบ้านเรือน ไปจนถึงตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจนได้รับความเสียหายร้ายแรงและทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหล

หลังจากได้รับความเสียหาย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะต้องใช้น้ำปริมาณมากเพื่อหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องระเบิด ซึ่งน้ำหล่อเย็นเหล่านี้ย่อมปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้ดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวจึงนำน้ำเหล่านี้ไปเก็บไว้ตามแทงก์รอบ ๆ โรงไฟฟ้าจนทุกวันนี้ มีปริมาณประมาณ 1.3 ล้านตัน มากพอที่จะนำไปเทใส่สระว่ายน้ำที่ใช้แข่งโอลิมปิกได้ถึง 500 สระ และตอนนี้เทปโกกำลังไม่มีสถานที่จัดเก็บน้ำดังกล่าวภายในปีนี้

ด้วยเหตุนี้ เทปโกและรัฐบาลญี่ปุ่นจึงตัดสินใจเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี โดยใช้วิธีทยอยปล่อยลอตแรกเป็นจำนวน 7,800 ลูกบาศก์เมตร ตลอดระยะเวลา 17 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. ซึ่งคาดว่ากว่าจะปล่อยน้ำทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 30 ปีนับจากนี้ไป

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะทุกคนกังวลเรื่องความปลอดภัยนั้น มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกมีความปลอดภัยกว่าที่ผู้คนจำนวนมากคาด

เทปโกให้ข้อมูลว่า น้ำที่จะถูกปล่อยลงสู่ทะเลในครั้งนี้จะผ่านการบำบัดโดยใช้ระบบแปรรูปของเหลวขั้นสูง หรือ ALPS (Advanced Liquid Processing System) โดยกระบวนการบำบัดน้ำด้วยระบบ ALPS นี้จะช่วยกำจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) ที่ปนเปื้อนในน้ำไปถึง 62 ชนิด เหลือเพียงทริเทียม (tritium) หรือไอโซโทปไฮโดรเจน ที่ถูกเจือจางให้น้อยกว่า 1,500 เบกเคอเรล/ลิตร ถือว่าน้อยกว่าความเข้มข้นตามมาตรฐานความปลอดภัยของญี่ปุ่นถึง 40 เท่า

แม้ทริเทียมจะเป็นสารกัมมันตรังสีที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่มนุษย์ต้องบริโภคทริเทียมเข้าไปหลายพันล้านเบกเคอเรลถึงจะเริ่มส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ปล่อยลงมหาสมุทรมีทริเทียมแค่ประมาณ 190 เบกเคอเรล/ลิตร ต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กำหนดไว้ว่าน้ำดื่มได้ต้องมีทริเทียมไม่เกิน 10,000 เบกเคอเรล/ลิตร

ในบริเวณที่ทำการเจือจางของโรงไฟฟ้านั้นใช้ 3 ปั๊มขนาดใหญ่ดูดน้ำทะเลผสมกับสารเคมีบำบัดน้ำต่าง ๆ เพื่อให้ทริเทียมมีความเข้มข้นต่ำกว่าข้อกำหนดมาก ๆ โดยเทปโก เปิดเผยว่า น้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดทั้งหมดแล้วจะถูกเจือจางไปมากกว่า 350 เท่า

จากนั้น น้ำที่เจือจางแล้วนี้ถูกนำไปเก็บไว้แทงก์เพื่อทำการทดสอบเพิ่มเติม จากนั้นน้ำจะไหลผ่านไปยังท่อส่งที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน แล้วเดินทางผ่านอุโมงค์ระบายน้ำที่ทอดยาวไปใต้ก้นทะเลเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร จากนั้น ปากท่อที่ติดตั้งอยู่ใต้ผิวทะเลประมาณ 12 เมตรจะปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกต่อไป

สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)รับรองแผนการดังกล่าว โดยเปิดเผยในรายงานขั้นสุดท้ายเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า หลังจากที่ได้ทบทวนมา 2 ปี แผนการของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรนั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากลและจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม การปล่อยน้ำหล่อเย็นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงทะเลถือเป็นเรื่องปกติที่ทำกันทั่วโลก

กระทรวงสิ่งแวดล้อมและกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ จะปล่อยน้ำที่มีทริเทียม 22 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปี และเมื่อเทียบกับประเทศศอื่น ๆ  ถือว่าญี่ปุ่นปล่อยน้ำที่มีทริเทียมน้อยกว่ามาก

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หงหยานเหอของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่วิจารณ์แผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นอย่างหนัก ปล่อยน้ำที่มีทริเทียม 87 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปี สูงกว่าของฟูกูชิมะเกือบ 4 เท่า ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โกรีของเกาหลีใต้ก็ปล่อยน้ำที่มีทริเทียม 91 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปี

'โทนี เออร์วิน' รองศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย  กล่าวว่า 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกมีการปล่อยน้ำที่มีทริเทียมอยู่เป็นประจำเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้คนหรือสิ่งแวดล้อม และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ปล่อยน้ำที่มีทริเทียมออกมาในระดับที่สูงกว่า 22 ล้านล้านเบกเคอเรลต่อปีเมื่อเทียบกับของฟูกูชิมะ'