อ่านสัญญาณ ‘จีน’ เมื่อประชุม G20 ไม่มี ‘สี จิ้นผิง’
“ปธน.โจ ไบเดน” เดินทางถึงอินเดียแล้ววันนี้ และชัดเจน “ปธน.สี จิ้นผิง” ไม่ร่วมประชุมผู้นำ G20 ครั้งที่ 18 ที่กรุงนิวเดลี แล้วเรื่องนี้ส่งสัญญาณอย่างไร
เรื่องนี้ แม้ทำเอาประธานาธิบดีโจ ไบเดน รู้สึกผิดหวังหน่อยๆ พร้อมบอก “ไม่เป็นไร ผมจะเดินทางไปพบเขา” เป็นนัยว่า จะมีการพบปะระหว่างผู้นำสหรัฐกับจีนขึ้น แต่ยังไม่มีใครรู้จะมีขึ้นเมื่อไหร่ และที่ไหน
ประธานาธิบดีไบเดน เดินทางเยือนประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 8 - 11 ก.ย.66 แล้วต่อด้วยการเยือนประเทศเวียดนาม ตามแผนกระชับสัมพันธ์ประเทศในเอเชีย
“เหมา หนิง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เผยนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง จะเข้าร่วมผู้นำ G20 ตามคำเชิญรัฐบาลอินเดีย
แต่ในคำบอกเล่านี้ กลับไม่มีคำโต้แย้งว่า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะไปร่วมการประชุม G20 ครั้งนี้ และไม่มีคำอธิบายใดๆว่า ทำไม นายกฯหลี่จึงนำคณะผู้แทนด้วยตัวเอง
แน่นอนว่า ไม่น่าเป็นไปได้ที่ผู้นำระดับสูงของจีนทั้งสองคน จะเดินทางออกนอกประเทศพร้อมๆกัน และไปร่วมงานเดียวกัน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้นำประเทศสมาชิก G20 คนที่สอง เป็นที่รู้กันว่า จะไม่เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 หลังจากที่วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ส่งหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีว่าไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ และได้มอบหมายให้นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียปฏิบัติหน้าที่แทน
ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีสีเพิ่งเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำบริกส์ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเวทีกลุ่มความร่วมมือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ผู้นำจีนมุ่งผลักดันให้เป็นทางเลือกจากความร่วมมืออย่าง G7 และ G20 ที่ชาติตะวันตกเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้นมา
นักวิเคราะห์ชี้ว่า เหนือไปกว่า ทำให้ไบเดนผิดหวังกับการที่สีไม่อยู่ในวงประชุมผู้นำ G20 อาจส่งผลต่อความรู้สึกประเทศเจ้าภาพ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนระหว่างจีนกับอินเดีย หลังผู้นำสองประเทศเพิ่งได้เจอกันเพื่อปรับความเข้าใจในข้อพิพาทชายแดนที่ผ่านมา
ขณะที่หลายคนยังมองว่า ยังมีมากมายหลายประเทศที่ใจลึกๆ ไม่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือพหุภาคีที่ครอบงำความคิด และสร้างระเบียบโลกขึ้นมาจากสหรัฐ และชาติตะวันตกเพียงฝ่ายเดียว
“เหวินตี ซุง” ผู้เชี่ยวชาญจีนและรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออสเตรเลียกล่าวว่า การที่ปธน.สีขอบายร่วมการประชุม G20 ครั้งนี้ทันที ซึ่งกลุ่มความร่วมมือนี้เป็นเวทีที่ชาติตะวันตกมีบทบาทสำคัญ ก็สามารถอธิบายต่อไปว่า “ตะวันออกกำลังเฉิดฉาย” และ “ตะวันตกกำลังหรี่แสงดับลง” ท่ามกลางเสียงวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญแค่ไหนกับประเทศทั่วโลก