'9/11 ของอิสราเอล' สงครามนี้ใหญ่กว่าที่คิด

'9/11 ของอิสราเอล' สงครามนี้ใหญ่กว่าที่คิด

ถึงแม้ว่าการปะทะกันในระดับ “สงคราม” ครั้งล่าสุดระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ระดับความรุนแรงนั้นถือว่าต่างจากครั้งนี้มาก

ไม่ว่าจะเรื่องความสูญเสียที่มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 700 คน มีคนถูกจับเป็นตัวประกันราว 100 คน หรือสเกลการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธฮามาส ที่ระดมยิงขีปาวุธถึง 5,000 ลูก ปูพรมโจมตีสถานที่กว่า 20 แห่งในอิสราเอล

นักวิเคราะห์การเมืองตะวันตกมองกันว่า สถานการณ์นี้ไม่ต่างอะไรกับ “9/11” ที่สหรัฐเผชิญการก่อการร้ายครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 เพราะอิสราเอลคล้ายสหรัฐตรงที่อยู่ในสถานะเหนือกว่าทุกด้าน

อิสราเอลมีสถานะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แข็งแกร่งที่สุดในตะวันออกกลางมานานหลายสิบปี ไม่ว่าจะเรื่องความมั่นคงที่พร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบต่อต้านขีปนาวุธ “Iron Dome” หรือจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในภูมิภาค ที่ปัจจุบันอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับปกติแล้วกับหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) บาห์เรน และโมร็อกโก และที่สำคัญก็คือ กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการฟื้นความสัมพันธ์กับ “ซาอุดีอาระเบีย” ด้วย

แต่สุดท้ายก็เจอกับการโจมตีใหญ่ชนิดคาดไม่ถึง สื่อในอิสราเอลหลายสำนักเทียบว่าเป็นเหมือน 9/11 ของตนเอง บ้างก็ว่าเหมือนกับเหตุโจมตี “เพิร์ล ฮาเบอร์” ที่ฮาวาย ซึ่งเป็นชนวนที่ทำให้สหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และบ้างก็ว่านี่คือเหตุโจมตีที่ทำให้พลเรือนอิสราเอลเสียชีวิตภายในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามประกาศเอกราชช่วงปี 1948

คำถามก็คือ ถ้า 9/11 ของสหรัฐหมายถึงการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายไปอีกหลายปี แล้ว 9/11 ของอิสราเอลจะเป็นอย่างไรต่อไป

หนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟอิสราเอล มองทิศทางเรื่องนี้เป็น 2 มุมใหญ่ๆ ด้วยกันคือ ตัวประกัน และ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

ในอดีตที่ผ่านมา การจับตัวประกันมักนำไปสู่การออกปฏิบัติการทางทหารเพื่อช่วยเหลือ มีครั้งที่ช่วยได้สำเร็จในปี 1976 ที่สนามบินอูกันดา จนถูกสร้างเป็นหนังมาแล้ว และมีอย่างน้อย 1 ครั้งที่อิสราเอลยอมเจรจาแลกตัวประกันกับนักโทษปาเลสไตน์ คือในปี 2011 ที่ยอมแลกนักโทษ 1,000 คนกับทหาร 1 นายที่ถูกจับเป็นตัวมานาน 5 ปี

แต่หลังจากนั้นในปี 2014 ก็เกิดเหตุจับตัวประกันอีก 3 คน แต่ทั้งหมดเสียชีวิตในเวลาต่อมา และนำไปสู่สงครามฉนวนกาซาเป็นเวลา 50 วัน หากในครั้งนี้เป็นการจับตัวประกันถึงร้อยคน แน่นอนว่าอิสราเอลย่อมไม่อยู่เฉยเป็นแน่

ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ยังไม่มีใครบอกได้แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศสงครามเอาคืนตั้งแต่วันแรก โดยมุ่งเป้าไปยังพื้นที่ฉนวนกาซาเป็นหลัก และผลที่เกิดขึ้นก็คือ มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,200 คน ในช่วง 3 วันนี้

ที่น่าสนใจก็คือ การทำสงครามตอบโต้เป็นสิ่งที่หลายประเทศส่งสัญญาณว่าเป็น “ความชอบธรรมในการปกป้องตนเอง” ทั้งจากสหรัฐและฝั่งยุโรป และแม้แต่ขั้วการเมืองสายกลางในอิสราเอลที่ตีกับรัฐบาลพรรคร่วมขวาจัดของเนทันยาฮูก่อนหน้านี้ ก็ยังส่งสัญญาณแสดงความเป็นหนึ่งเดียวในห้วงสงคราม ขณะที่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ก็จบลงโดยไม่มีผลอะไรออกมาตามความคาดหมาย

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าปัญหานี้จะจบลงเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ ก็คือ นี่คือสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของตะวันออกกลางในช่วงหลายปีมานี้ และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่น่าจับตาตามมา