ทั่วโลกแห่ 'ย้ายประเทศ' หนีความจน อพยพเข้าประเทศรวยสูงสุดทุบสถิติใหม่!
อัตราการอพยพย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในกลุ่มประเทศ OECD พุ่งขึ้นสูงสุดทุบสถิติใหม่ในปี 2565 ตอบรับชาติร่ำรวยกำลังเปิดประเทศจากปัญหา "ขาดแคลนแรงงาน"
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 38 ประเทศทั่วโลก เปิดเผยว่า อัตราการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนทั่วโลกที่เข้าไปยังกลุ่มประเทศโออีซีดี ในปี 2565 ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นสูงสุดทุบสถิติใหม่อยู่ที่ 6.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 26%
การแห่อพยพย้ายถิ่นครั้งนี้ ยังทำให้มีประเทศสมาชิกโออีซีดีมากกว่า 1 ใน 3 ที่เจอกับคลื่นผู้อพยพสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบอย่างน้อย 15 ปีด้วย เช่น ฝรั่งเศส 301,000 คน, สเปน 471,000 คน และเบลเยี่ยม 122,000 ค
ส่วนบางประเทศยังเปิดรับผู้อพยพสูงสุดทุบสถิติใหม่ในปีที่แล้ว เช่น สหราชอาณาจักร 521,000 คน และแคนาดา 437,000 คน ในขณะที่ "สหรัฐอเมริกา" เปิดรับผู้อพยพถึง 1.05 ล้านคน
การย้ายถิ่นส่วนใหญ่ในครั้งนี้มาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม (ภัยสงคราม การเมือง และความรุนแรง) และความต้องการแรงงาน โดยในส่วนของการขอลี้ภัยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุบสถิติใหม่อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจาก 1.6 ล้านคนในปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามปัจจัยเรื่อง "ความต้องการแรงงาน" ดูจะเป็นสาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นในครั้งนี้มากที่สุด เนื่องจากกลุ่มประเทศโออีซีดีกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ และทำให้ตัวเลขการย้ายถิ่นจากเหตุผลด้านแรงงาน เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 21% หรือเท่ากับสัดส่วนการย้ายถิ่นด้านมนุษยธรรมแล้ว
"ประเทศส่วนใหญ่ในโออีซีดีกำลังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงาน และสถานการณ์จะยิ่งแย่ลงอีกในอนาคต" โฆเซ่ ลูอิส เอสคริวา รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสเปน กล่าวในการเปิดตัวรายงานฉบับใหม่ของโออีซีดี
ทั้งนี้เป็นที่คาดว่าตัวเลขการอพยพย้ายถิ่นฐานในปี 2566 นี้ อาจเพิ่มขึ้นจนทุบสถิติใหม่อีกครั้ง เนื่องจากยังไม่ได้นับรวมผู้อพยพชาวยูเครนถึง 4.7 ล้านคน ที่หนีภัยสงครามเข้ามาอยู่ในกลุ่มโออีซีดีจนถึงช่วงกลางปีนี้
นอกจากนี้ยังรวมถึงตัวเลขการย้ายถิ่นเข้ามาทำงานแบบชั่วคราว และตัวเลขนักเรียน-นักศึกษาต่างชาติ ซึ่งเพิ่มขึ้นทุบสถิติใหม่อยู่ที่ 1.9 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นการเลือกไปศึกษาในสหราชอาณาจักร