เปิดจุดยืนกาตาร์ ‘คนกลาง’ เจรจาปล่อยตัวประกัน
ท่ามกลางสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ยังไม่รู้วันจบ ได้มีชื่อ “กาตาร์” ปรากฏขึ้นจากปากผู้นำหลายประเทศในฐานะคนกลางเจรจาปล่อยตัวประกันที่ถูกฮามาสจับตัวไปในวันที่ 7 ต.ค. ในโอกาสนี้ อะห์มัด อาลี เอ เจ อัล ตะมิมี เอกอัครราชทูตกาตาร์ประจำประเทศไทยให้สัมภาษณ์พิเศษกรุงเทพธุรกิจ ถึงบทบาทสำคัญของประเทศ
ทูตเผยว่า รัฐกาตาร์มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในด้านความพยายามในการเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยและแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติผ่านกระบวนการเจรจาและทางด้านการทูต
“ตามที่ท่านทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐกาตาร์ถือเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทที่สำคัญที่สุดในเวทีระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคในการใช้กระบวนการทางการทูตเชิงป้องกัน การไกล่เกลี่ย และการช่วยเป็นสื่อกลางในการเจรจา ซึ่งเป็นวิธีการที่จะระงับข้อพิพาทในการแก้ไขวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศจำนวนมาก”
ทั้งนี้ ทูตได้กล่าวถึงสุนทรพจน์ของเชค ทามิม บิน ฮาหมัด อัล ทานี เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ ที่ได้กล่าวไว้ในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในสมัยประชุมที่ 78 ว่า ความรับผิดชอบผลักดันให้รัฐกาตาร์เสริมสร้างบทบาทของตนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การไกล่เกลี่ยและแก้ไขความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคตะวันออกกลาง เส้นทางการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีนั้นเป็นเส้นทางที่ยาวไกลและมีความยากลำบาก แต่โดยมูลค่าแล้วก็ยังมีราคาถูกกว่าสงคราม และความมุ่งมั่นสานต่อความพยายามในการอำนวยความสะดวกและสร้างสันติภาพเป็นความมุ่งมั่นตามหลักการถือเป็นแกนหลักของนโยบายต่างประเทศของรัฐกาตาร์
นอกจากนี้ทูตยังกล่าวถึง เชค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุล เราะห์มาน บิน จัสซิม อัล ทานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่เน้นย้ำถึงเป้าหมายของรัฐกาตาร์ในการบรรลุแผนงานที่ประมุขของประเทศได้กำหนดไว้สำหรับการทูตของกาตาร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของรัฐกาตาร์ในการเจรจาไกล่เกลี่ยและการแก้ไขความขัดแย้ง
“ดังนั้นความพยายามทั้งหมดของรัฐกาตาร์กับฝ่ายต่าง ๆ ในความขัดแย้ง รวมถึงกลุ่มฮามาส จึงอยู่ภายใต้กรอบของการสื่อสารเพื่อนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพ” เนื่องจากการไกล่เกลี่ยที่มีประสิทธิภาพถือเป็นกลไกและกลยุทธ์พื้นฐานที่เอื้อต่อการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งและแสวงหาแนวทางแก้ไขที่ครอบคลุมและยั่งยืน
ทางออกไม่ใช่เพิ่มสงคราม
ทูตอัล ตะมิมียอมรับว่า สถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจนำไปสู่การขยายวงจรความรุนแรง และความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านมนุษยธรรมที่ฉนวนกาซากำลังเผชิญอยู่อีกด้วย
ในมุมมองทูตทางออกที่ดีจึงไม่ใช่การเพิ่มสงครามและการสู้รบที่ดำเนินต่อไป ซึ่งจะเป็นการบ่อนทำลายความพยายามระหว่างประเทศในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
"ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนได้ติดตามคำแถลงของการประชุมสุดยอดไคโรเพื่อสันติภาพที่จัดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศอาหรับเห็นพ้องถึงความสำคัญของประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคง ที่มีหน้าที่ในการบรรลุสันติภาพในตะวันออกกลางและใช้ความพยายามร่วมกันอย่างรวดเร็ว จริงใจ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและดำเนินการแก้ไขปัญหาสองรัฐบนพื้นฐานของมติสหประชาชาติ ในลักษณะที่รับประกันการสถาปนารัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระ อธิปไตย และมีดินแดนที่ต่อเนื่อง ที่ได้กำหนดไว้ก่อนวันที่ 4 มิ.ย.พ.ศ. 2510 โดยมีกรุงเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง"
จุดยืนกาตาร์ต่อแนวทางสองรัฐ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสและประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเผยกับสื่อต่างประเทศ สนับสนุนการแก้ปัญหาตามแนวทางสองรัฐ ซึ่งกาตาร์มีจุดยืนนั้นเช่นกัน ทูตย้ำจุดยืนอย่างหนักแน่นและไม่เปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทของสันนิบาตอาหรับและความชอบธรรมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปาเลสไตน์และสิทธิของชาวปาเลสไตน์
"ในที่นี้ ผมสามารถชี้ให้เห็นถึงจุดยืนอันมั่นคงของรัฐกาตาร์ในเรื่องความยุติธรรมในประเด็นปาเลสไตน์และสิทธิอันชอบธรรมของพี่น้องชาวปาเลสไตน์ และการสถาปนารัฐเอกราชมีดินแดนที่ต่อเนื่องที่ได้กำหนดไว้ก่อนปี พ.ศ. 2510 โดยมีกรุงเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง" ทูตกล่าวพร้อมประณามการมุ่งเป้าโจมตีต่อพลเรือนในทุกรูปแบบ ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือชาติใดก็ตาม โดยกาตาร์จะต้องดำเนินการร่วมกับพันธมิตรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยทันทีเช่นกัน เป็นการดำเนินการตามมติความชอบธรรมระหว่างประเทศและการริเริ่มสันติภาพอาหรับ
ด้านการเจรจาปล่อยตัวประกัน รัฐกาตาร์ยังคงยืนยันในความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเจรจาไกล่เกลี่ยว่าด้วยการปล่อยตัวประกัน พร้อมกับย้ำเตือนอยู่เสมอว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นการเพิ่มภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาเป็นสองเท่า และทำให้การปล่อยตัวมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
"ผมเชื่อว่าประชาชนชาวไทย ได้ติดตามผลการเยือนรัฐกาตาร์ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้เยือนรัฐกาตาร์ ตามประกาศของกระทรวงการต่างประเทศ ออกเมื่อวันที่ 3/11/2566 ภายใต้กรอบการประสานงานและเสริมสร้างความพยายามในการปล่อยตัวพลเมืองไทยโดยทันทีซึ่งถูกจับเป็นตัวประกันในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฉนวนกาซา
คำแถลงดังกล่าวยกย่องบทบาทของรัฐกาตาร์ในการไกล่เกลี่ยในภูมิภาคตะวันออกกลาง และความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือฝ่ายไทยในการปล่อยตัวประกันชาวไทยโดยกลุ่มฮามาส"
‘ก๊าซธรรมชาติ-ท่องเที่ยว’ชูโรงความสัมพันธ์ ‘กาตาร์-ไทย’
ในบริบทการค้า การลงทุน และความร่วมมือในอนาคตระหว่างกาตาร์กับไทย ทูตอัล ตะมิมีกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างรัฐกาตาร์และราชอาณาจักรไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตใน พ.ศ. 2523 ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันและความมุ่งมั่นต่อหลักการและค่านิยมด้านมนุษยธรรม เป็นการปูทางสู่การจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือและคณะกรรมการระดับสูงเพื่อเป็นกรอบหารือแนวทางความร่วมมือ
"ผมขอเน้นย้ำถึงความกระตือรือร้นของรัฐกาตาร์ในการเสริมสร้างกรอบความร่วมมือกับราชอาณาจักรไทยในทุก ๆ ด้าน ผมมั่นใจอย่างเต็มที่ในอนาคตความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างรัฐกาตาร์และราชอาณาจักรไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันและตระหนักถึงความปรารถนาของทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ"
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า กาตาร์หวังว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มมากยิ่งขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัฐกาตาร์และราชอาณาจักรไทย ซึ่งเติบโตมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐกาตาร์เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้และเป็นแหล่งสำคัญในการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังราชอาณาจักรไทย
"การท่องเที่ยวยังเป็นพื้นที่สำหรับการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ราชอาณาจักรไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้ม เป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับพลเมืองและผู้ที่พำนักในรัฐกาตาร์ ไม่ว่าจะเพื่อการท่องเที่ยวหรือการบริการทางการแพทย์ที่มีความโดดเด่นของราชอาณาจักรไทย" ทูตกาตาร์กล่าวทิ้งท้าย