'ลิซ ทรัสส์' VS 'เศรษฐา ทวีสิน' l กันต์ เอี่ยมอินทรา
กรณีศึกษานายกรัฐมนตรี "ลิซ ทรัสส์" ของอังกฤษใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษี ทำให้ไม่รู้จะหาเงินที่หายไปจากการลดภาษีมาจากส่วนใด เช่นเดียวกับเงินดิจิทัลของนากยฯเศรษฐา ทวีสิน ที่ยังเป็นที่ถกเถียง
เป็นที่ถกเถียงกันตั้งแต่ออกนโยบาย จนกระทั่งปัจจุบันกับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทั้งความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และที่มาของเงิน
เสียงคัดค้านหลักที่สมควรให้น้ำหนักมากที่สุดก็คือ เหล่าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเงินการคลัง ที่อยู่ทั้งในภาครัฐอย่างแบงก์ชาติ (ธปท.) กระทรวงการคลัง ตลอดจนนักธุรกิจ และนักวิชาการ
การออกนโยบายที่ใช้เงินมากมายเช่นนี้แจกลงไปให้กับประชาชนไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรก รัฐบาลทั่วโลกแจกกระหน่ำมาแล้วในช่วงโควิด-19 เพราะเศรษฐกิจแย่ ไม่มีเงินหมุนในระบบ จึงมีความจำเป็นที่จะเอาเงินที่มีหรือแม้กระทั่งกู้เงินจากแหล่งภายนอกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ให้เงินหมุนในระบบ มิเช่นนั้นแล้ว ผู้คนก็จะลำบาก
การแจกก็มีหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแจกแบบถ้วนหน้าของญี่ปุ่นภายใต้เกณฑ์ทั่วไป การแจกแบบขั้นบันไดของอังกฤษ และการแจกอย่างมีเงื่อนไขบางประการ อาทิ ไทย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการใช้เงินออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในบางภาคส่วน อาทิ การท่องเที่ยว เช่น นโยบายเที่ยวด้วยกันของไทย ซึ่งที่ญี่ปุ่นก็มีเช่นเดียวกัน
ทั้งยังมีนโยบายการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น โครงการคนละครึ่งของไทย หรือโครงการช่วยเหลือค่าพลังงานสูงของหลายๆ ประเทศในยุโรป แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถือเป็นความจำเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคืองทั้งสิ้น
นโยบายหลังยุคโควิด ส่วนใหญ่ที่ชัดเจนก็จะเป็นนโยบายส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจที่มิใช่การแจกเงินโดยตรง อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวของไต้หวันในรูปแบบการชิงโชคเงินสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือการแจกตั๋วเครื่องบิน(กึ่ง)ฟรีของทางการฮ่องกงกว่า 5 แสนใบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ใช้เงินสูงและออกจะแหวกขนบธรรมเนียมวินัยการคลังเช่นนี้ มีความเสี่ยงสูง ซึ่งก็หมายถึงผลตอบแทนที่สูง เช่นเดียวกับการขาดทุนที่ย่อยยับหากผลไม่เป็นไปตามที่คาด
กรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สุดคงหนีไปพ้นกรณีของอังกฤษภายใต้การนำช่วงสั้นๆ ของ “ลิซ ทรัสส์” อดีตนายกฯหญิงที่เลือกดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เสี่ยงและถูกคัดค้านอย่างหนักโดยบรรดานักวิชาการด้านการเงินการคลังของอังกฤษ บีบให้ทรัสส์ต้องลาออกจากตำแหน่งหลังขึ้นดำรงตำแหน่งได้เพียง 50 วัน
ทรัสส์ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษี ทำให้ที่เกิดคำถามถึงที่มาของเงินงบประมาณ โครงการมากมาย แต่ไม่รู้จะหาเงินที่หายไปจากการลดภาษีมาจากส่วนใด เกิดเป็นคำถามที่สำคัญ ทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินหรือแม้กระทั่งคนในพรรคเองล้วนเห็นต่าง
ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้เกิดปัญหาเงินปอนด์อ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านขึ้นอย่างรุนแรง ราคาพันธบัตรรัฐบาลด้อยค่าอย่างหนัก ร้อนถึงธนาคารการที่จำต้องเข้ามาแทรกแซง
ถึงแม้ทรัสส์แก้ปัญหาโดยพยายามกลับลำนโยบาย ไปจนถึงเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคลัง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะเศรษฐกิจได้พังไปแล้วในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ทรัสส์ดำรงตำแหน่ง จึงเกิดแรงกดดันอย่างหนัก และในที่สุดแล้ว ทรัสส์จึงจำต้องลงจากตำแหน่ง
ทรัสส์ไม่ได้ชนะเลือกตั้ง เพราะสืบอำนาจต่อจากบอริส จอห์นสัน ขณะเดียวกันก็ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่รุนแรง ลงโทษทั้งตัวเธอเองและคนอังกฤษทั่วประเทศ จึงสมควรเป็นกรณีศึกษาแก่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯของเรา อย่างยิ่ง