ตลาด EV สหรัฐโตช้า มะกันยังกังวล ‘ราคารถ-ความจุแบตเตอรี่-สถานีชาร์จไม่พอ'

ตลาด EV สหรัฐโตช้า มะกันยังกังวล ‘ราคารถ-ความจุแบตเตอรี่-สถานีชาร์จไม่พอ'

การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐเกิดความล่าช้า เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับระยะทางขับขี่และความสามารถในการชาร์จที่มีจำกัด แถมมีปัญหาด้านค่าใช้จ่าย

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า เมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ต่างปรับลดเป้ายอดขายอีวีและชะลอโครงการลงทุนต่าง ๆ เนื่องจากบริษัทพยายามระบายสินค้าคงคลังของรถยนต์อีวีที่ตัวแทนจำหน่ายยังขายไม่ออก

“เนล ซอนเดอร์ส” กรรมการผู้จัดการโกลบอลดาต้า เผยว่า

“ยอดขายอีวีชะลอตัวมากกว่ารถยนต์ประเภทอื่นอย่างเห็นได้ชัด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเลย รถยนต์ไฟฟ้ายังมีปัญหาอยู่ การตัดสินใจซื้อทำได้ยากและมีความซับซ้อน เพราะเรื่องระยะทางการขับขี่และโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ”

โดยพื้นฐานลูกค้าชาวอเมริกันมักคุ้นเคยกับการเดินทางไกลเพื่อไปพักผ่อนในวันหยุด หรือเพื่อไปเยี่ยมเพื่อนและญาติ ๆ เพราะสหรัฐเป็นประเทศขนาดใหญ่และมีตัวเลือกการขนส่งสาธารณะที่จำกัด แต่ปัจจุบันเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ยังคงไม่น่าไว้วางใจ เนื่องจากหลายพื้นที่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ หรือมีการติดตั้งเครื่องชาร์จที่ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ลูกค้าลังเลที่จะซื้ออีวี

  • ข้อกังวลด้านระยะทางและราคา

ตามผลสำรวจของสมาคมเทคโนโลยีเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้จัดงานคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์โชว์ในลาสเวกัส พบว่า ผู้ขับรถยนต์มากกว่า 3 ใน 4 มองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีความน่าเชื่อถือ แต่ยังมีข้อกังวลที่สำคัญในบรรดาผู้ขับขี่หลายคนเกี่ยวกับกับรถยนต์อีวี อาทิ ผู้ขับขี่มองว่าโครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ (36%), กังวลความจุแบตเตอรี่ (39%) และกังวลค่าใช้จ่ายของยานพาหนะ (38%)

ขณะที่ราคารถยต์อีวีโดยเฉลี่ยในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 51,762 ดอลลาร์ (ราว 1.8 ล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าระดับราคารถยนต์ปีก่อนราว 13,000 ดอลลาร์ (ราว 4.6 แสนบาท) แต่ยังคงสูงกว่าราคารถยนต์ทุกประเภท 4,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.4 แสนบาท)

รายงานของ Observatoire Cetelem 2024 ระบุว่า แม้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ยุโรปหันไปสนใจอีวีมากขึ้น และมองข้ามเรื่องราคารถยนต์ไฟฟ้าไป แต่ราคาน้ำมันในสหรัฐถูกกว่าฝรั่งเศสและอังกฤษ 50% จึงทำให้อเมริกันไม่สามารถมองข้ามปัจจัยด้านราคารถยนต์ไปได้

ด้านผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เทสลา ก็ชี้ว่าต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการซื้อรถอีวีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เทสลายังคงเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในหมู่ยานยนต์อีวี โดยเคลลีย์ บลู บุ๊ก บริษัทวิจัยอุตสาหกรรม เผยว่า เทสลาครองสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 55% จากรถยนต์อีวีที่จำหน่ายได้ทั้งหมด 873,000 คันในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

 

  • ต้องลดต้นทุน

“จิม ฟาร์ลีย์” ซีอีโอฟอร์ด คาดว่า การเปลี่ยนแปลงแบบพลวัต หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและฉับพลันในตลาด ทั้งด้านราคา อัตราการใช้งาน และกฎระเบียบต่าง ๆ ล้วนบังคับให้ธุรกิจต้องลดต้นทุนยานยนต์อีวี

ด้านเจนเนอรัล มอเตอร์ คู่แข่งฟอร์ดและบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ในเมืองดีทรอยต์ ก็ชะลอแผนการผลิตรถกระบะอีวีในโรงงานโอไรออน ในรัฐมิชิแกน เพื่อจัดการการลงทุนให้ดีขึ้น และให้สอดคล้องกับความต้องการรถยนต์อีวีที่เปลี่ยนแปลงไป

ขณะที่ฟอร์ดและเทสลาต่างพยายามลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนเช่นกัน

รัฐบาลวอชิงตันได้อนุมัติเงินทุนประมาณ 7,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและขยายการลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์ (2.65 แสนบาท) ต่อคัน และตั้งเป้าให้มีการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 50% ของการจำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573 

แต่ซอนเดอร์ส จากโกลบอลดาต้าบอกว่า “เจ้าหน้าที่อยากให้เป้าหมายบรรลุในข้ามคืน แต่คุณไม่สามารถกำหนดเป้าหมายตามอำเภอใจได้ คุณต้องแน่ใจก่อนว่าโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ ในระยะยาวตลาดอีวีอาจจะดีขึ้น แต่ตอนนี้เติบโตช้ามาก”