สภาพอากาศเปลี่ยนทุบเศรษฐกิจโลกหลายพันล้านดอลลาร์
สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว โลกร้อน โลกรวน สร้างความเสียหายอย่างแน่นอน แต่เมื่อการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติใกล้เข้ามา รายงานศึกษาผลกระทบเผยตัวเลขชัดเจนยิ่งขึ้น
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานผลการศึกษาใหม่ล่าสุด เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (28 พ.ย.) ก่อนการประชุม COP28 ชี้ชัด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกหลายพันล้านดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว
มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันมีสาเหตุจากฝีมือมนุษย์หั่นผลผลิตเศรษฐกิจโลกปี 2565 ลง 6.3% เฉลี่ยจากประชากรทั้งหมด
ตัวเลขนี้สะท้อนทั้งผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ความปั่นป่วนในภาคเกษตรกรรมและการผลิต ผลิตภาพลดลงจากความร้อนเพิ่มสูง ไปจนถึงผลกระทบที่เกินเลยไปถึงการค้าและการลงทุนโลก
“โลกยากจนลงหลายล้านล้านดอลลาร์เพราะโลกร้อน และภาระส่วนใหญ่ตกกับประเทศยากจน ผมหวังว่า ข้อมูลนี้จะอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงความท้าทายที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่และความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องสนับสนุนให้พวกเขาแก้ไขปัญหา” เจมส์ ไรซิง หัวหน้าทีมเขียนรายงานกล่าว
หากคำนวณโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากประชากรเฉลี่ย ปี 2565 ผลผลิตมวลรวมของโลก (จีดีพี) เสียหาย 1.8% หรือราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์
“ความแตกต่างระหว่างตัวเลขทั้งสองสะท้อนถึงการกระจายผลกระทบอย่างไม่เท่าเทียมกัน เพราะไปกระจุกตัวอยู่ในประเทศรายได้ต่ำในภูมิภาคเขตร้อน ที่มักมีประชากรมากกว่าแต่จีดีพีน้อยกว่า” รายงานระบุ
ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่มีประชากรมากกว่า จีดีพีเสียหาย 8.3% เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาใต้ เสียหาย 14.1% และ 11.2% ตามลำดับ
ในทางกลับกันประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศได้ประโยชน์เนื่องจากฤดูหนาวอุ่นขึ้น ปีก่อนจีดีพียุโรปเพิ่มขึ้นสุทธิเกือบ 5% แต่การเพิ่มขึ้นดังกล่าว “ส่อเค้าไร้ความหมาย” เพราะเมื่อถึงฤดูร้อนอากาศก็ร้อนขึ้นด้วย
ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 27 ที่อียิปต์เมื่อปีก่อน หลายชาติเห็นชอบตั้งกองทุนเฉพาะช่วยเหลือประเทศกลุ่มเสี่ยงรับมือ “ความสูญเสียและเสียหาย” จากภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศสุดขั้ว รายละเอียดบางอย่างโดยเฉพาะส่วนที่ว่าใครจะช่วยมากน้อยแค่ไหน เพิ่งตกลงกันได้เมื่อเร็วๆ นี้ และจะกลายเป็นประเด็นสำคัญของการประชุม COP28 ในปีนี้ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันพฤหัสบดี (30 พ.ย.) ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)
ทั้งนี้ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเสียหายรวมกันทั้งเงินทุนและจีดีพีรวม 21 ล้านล้านดอลลาร์ ราวครึ่งหนึ่งของจีดีพีประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมดในปีนี้
รายงานระบุชัดเจนว่า ความเสียหายนี้ “ประเมินอย่างออมมือแล้ว” เพราะการวิเคราะห์ยังไม่รวมถึงความเสียหายและผลกระทบที่ไม่เข้าสู่ระบบตลาด