จากการทูตปิงปอง สู่ ‘การทูตถั่วเหลือง’ กลยุทธ์เด็ด 'จีน' ใช้ฟื้นสัมพันธ์กับสหรัฐ
เจาะลึกความเป็นมาของ “การทูตจีน” ตั้งแต่ “การทูตปิงปอง” ที่ทำให้จีนและสหรัฐคบหากัน จนมาถึงล่าสุด “การทูตถั่วเหลือง” จีนใช้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐ
Key Points
- จีนเป็นประเทศที่นำเข้าถั่วเหลืองมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของทั่วโลก ส่วนบราซิลเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองมากเป็นอันดับ 1 ที่ 50% ของโลก ขณะที่ “สหรัฐ” อยู่ในอันดับ 2 ที่ 37% ของโลก
- ก่อนที่สี จิ้นผิงกับไบเดนจะพบหน้ากันในงาน APEC 2023 จีนได้สั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐในจำนวนมากกว่า 3 ล้านตัน แม้ถั่วเหลืองสหรัฐ “แพงกว่า” บราซิลก็ตาม
- ในปี 2514 โจว เอินไหล รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนในขณะนั้นได้เสนอ “การทูตปิงปอง” ด้วยการส่งเทียบเชิญทีมนักกีฬาปิงปองของสหรัฐให้มาเที่ยวและแข่งขันกีฬาที่จีน โดยจีนจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
เมื่อ 38 ปีที่แล้ว ณ เมืองมัสเคทีน (Muscatine) รัฐไอโอวา รัฐที่ขึ้นชื่อด้านผู้นำการผลิตข้าวโพดและถั่วเหลืองของสหรัฐ มีผู้นำอำเภอเจิ้งติ้งของจีน วัย 31 ปีผู้หนึ่ง มาดูงานเทคโนโลยีฟาร์มในเมืองแห่งนี้ ซึ่งซาราห์ แลนด์ (Sarah Lande) ชาวเมืองมัสเคทีนก็ต้อนรับชายผู้นี้อย่างอบอุ่นและทั้งสองได้กลายเป็นเพื่อนกัน ไม่นึกว่าเมื่อเวลาผ่านไป ชายผู้นั้นจะเป็น “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีนในปัจจุบัน
ในระหว่างที่สี จิ้นผิง พบกับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ในงานประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2023 ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อวันที่ 15 พ.ย. ไบเดนได้โชว์รูปในมือถือที่มีสียืนถ่ายกับสะพาน Golden Gate รัฐแคลิฟอร์เนีย และถามว่า “คุณรู้จักชายหนุ่มผู้นี้ไหม”
สีตอบกลับด้วยรอยยิ้มว่า “ใช่ ผมรู้จัก นี่เป็นภาพเมื่อช่วง 38 ปีที่แล้ว” ไบเดนจึงแซวว่า “คุณไม่ได้เปลี่ยนไปเลยสักนิด” และทั้งสองก็หัวเราะ ซึ่งโมเมนต์ที่ผ่อนคลายเช่นนี้ กว่าจะได้เห็นในสาธารณะ ต้องผ่านการเจรจาทางการทูตก่อนหน้านั้นอยู่หลายครั้ง และหนึ่งในการทูตที่จีนใช้เพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐ คือ “การทูตถั่วเหลือง” (Soybean Diplomacy)
- ไบเดนขณะโชว์รูปในมือถือให้สี จิ้นผิงดู (เครดิต: ทวิตเตอร์ Hua Chunying 华春莹) -
- สีขณะยืนถ่ายรูปกับสะพาน Golden Gate รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 38 ปีที่แล้ว (เครดิต: ทวิตเตอร์ Hua Chunying 华春莹) -
- “การทูตถั่วเหลือง” ตัวช่วยฟื้นสัมพันธ์กับสหรัฐ
สำหรับ “ถั่วเหลือง” นั้น เป็นธัญพืชที่ให้โปรตีนสูง สามารถทำเป็นน้ำเต้าหู้ เต้าฮวย น้ำมันถั่วเหลือง ถั่วงอก โปรตีนเกษตร หรือแม้แต่ตัวกากถั่วเหลืองก็นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ได้ โดยข้อมูลจาก Trendeconomy ปี 2565 ระบุว่า จีนเป็นประเทศที่นำเข้าถั่วเหลืองมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของการค้าถั่วเหลืองทั่วโลก
ส่วนประเทศที่จีนมักจะนำเข้าถั่วเหลือง คือ “บราซิล” เพราะมีราคาถูก ซึ่งบราซิลเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองมากเป็นอันดับ 1 ที่ 50% ของโลก ขณะที่ “สหรัฐ” อยู่ในอันดับ 2 ที่ 37% ของโลก
- ถั่วเหลือง (เครดิต: Freepik) -
แต่ไม่นานมานี้ ก่อนที่สีกับไบเดนจะพบหน้ากันในงาน APEC 2023 จีนได้สั่งซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐในจำนวนมากกว่า 3 ล้านตัน แม้ถั่วเหลืองสหรัฐ “แพงกว่า” บราซิลก็ตาม อีกทั้งปริมาณการสั่งของจีนก็มากกว่าปริมาณบริโภคในประเทศด้วย สิ่งนี้สะท้อนถึงการใช้ “ถั่วเหลือง” ในการทูตของจีน เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหรัฐ
สาเหตุที่จีนต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐ เป็นเพราะเศรษฐกิจจีนในขณะนี้ไม่สู้ดีนัก ทั้งวิกฤติอสังหาริมทรัพย์รุมเร้า และหนุ่มสาวจีนตกงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์แตะที่ระดับ 21.3% อีกทั้งเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเกี่ยวโยงและพึ่งพาระหว่างกันในเกือบทุกด้าน หากจีนกับสหรัฐสามารถร่วมมือกันได้ และควบคุมความขัดแย้งไม่ให้ปะทุเป็นสงคราม นี่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งสหรัฐก็ตอบรับเชิงบวก
ในเวที APEC ปธน.สีกล่าวกับไบเดนว่า “โลกใบนี้ใหญ่พอสำหรับจีนและสหรัฐที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” ขณะที่ไบเดนกล่าวว่า “สหรัฐกับจีนต้องรับประกันว่า การแข่งขันระหว่างสองประเทศจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง”
สตีเฟน นิโคลสัน (Stephen Nicholson) นักยุทธศาสตร์โลกด้านธัญพืชและเมล็ดน้ำมันของ Rabobank ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา ก่อนที่สีกับไบเดนจะพบกันอย่างเป็นทางการ ทั้งสองต้องผ่าน “การทูตกระสวย” (Shuttle Diplomacy) อยู่หลายครั้ง ทั้งนี้ การทูตกระสวย หมายถึง นักการทูตหรือผู้ไกล่เกลี่ยเดินทางเจรจาไปมาระหว่าง 2 ประเทศ แทนการที่ผู้นำทั้งสองประเทศไม่ต้องการพบหน้ากันโดยตรง
“จีนเป็นนักปฏิบัติ และทราบดีว่าการรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐระหว่างกัน จะดีต่อผลประโยชน์ในระยะยาว” นิโคลสันเสริม
อีกประเด็นที่จีนซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐ แม้จะมีราคาแพงกว่า คือ “ความชื้น” โดยแดน แบสส์ (Dan Basse) ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านการเกษตร AgResource กล่าวว่า “ถั่วเหลืองสหรัฐมีความชื้นน้อยกว่าถั่วเหลืองบราซิล จึงเก็บรักษาได้นานกว่า”
- สี จิ้นผิงพบกลุ่มเพื่อนเก่าอเมริกัน
ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2023 ในวันที่ 15-17 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่นครซานฟรานซิสโก สีได้เชิญเพื่อนเก่าจากรัฐไอโอวาอย่างซาราห์ แลนด์, เทอร์รี แบรนสตัด (Terry Branstad) อดีตผู้ว่าการรัฐไอโอวาและทูตสหรัฐประจำจีน และครอบครัวดวอร์ชัก (Dvorchak) ที่เคยเปิดบ้านต้อนรับสีตอนที่เยือนรัฐไอโอวา มารับประทานอาหารค่ำร่วมกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างสีกับเพื่อน ๆ ชาวอเมริกันในรัฐไอโอวา เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2528 ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปธน.สีในขณะนั้นเป็นเพียงผู้แทนการเกษตรจากอำเภอเจิ้งติ้ง มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน เขาได้นำคณะผู้แทนการเกษตร จำนวน 5 คน เยี่ยมชมเทคโนโลยีการทำฟาร์มในเมืองมัสเคทีนของรัฐไอโอวา โดยซาราห์ แลนด์ ชาวเมืองมัสเคทีนที่ทำงานอยู่ในองค์กร "รัฐพี่รัฐน้อง" ของรัฐไอโอวา เป็นผู้ต้อนรับสี โดยพาเขาชมการแปรรูปข้าวโพด การทำฟาร์มหมู ฟาร์มผัก และล่องแม่น้ำมิสซิสซิปปี
“เขายิ้มไม่หยุด ใคร่รู้และตั้งคำถามเกี่ยวกับทุกสิ่ง” แลนด์เล่าถึงความหลังเมื่อพบกับสี และเล่าต่อว่า “เขาต้องการเรียนรู้วิธีว่า ทำอย่างไรให้ประชาชนของเขาได้มีอาหารกิน”
“ทั้งประชาชนชาวจีนและอเมริกันล้วนยอดเยี่ยม มิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศไม่ใช่เพียงสินทรัพย์อันมีค่า แต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีด้วย” สี จิ้นผิงเขียนในจดหมายถึงแลนด์ระหว่างการติดต่อกัน ซึ่งเธอได้นำเรื่องราวเหล่านี้เขียนเป็นบันทึกความทรงจำที่ชื่อว่า “เพื่อนเก่า”: เรื่องราวของสี จิ้นผิง-ไอโอวา (“Old Friends”: The Xi Jinping-Iowa Story)
- เมื่อปี 2555 สีได้กลับมาเยี่ยม ซาราห์ แลนด์ เพื่อนเก่าอีกครั้ง (เครดิต: Xinhua) -
ช่วงเวลานั้น สีกับคณะได้พักอยู่ที่บ้านของโทมัสและเอเลนอร์ ดวอร์ชัก (Thomas and Eleanor Dvorchak) ที่เปิดบ้านต้อนรับ เอเลนอร์ เล่าถึงความหลังว่า “ฉันคิดว่าสีเป็นมิตร มุ่งมั่นและสุภาพมาก”
- “การทูตปิงปอง” จุดเริ่มต้นสถาปนาความสัมพันธ์
นอกจากการทูตถั่วเหลืองแล้ว ในอดีต จีนยังเคยใช้ “กีฬาปิงปอง” ช่วยสถาปนาการทูตกับสหรัฐได้สำเร็จ โดยย้อนกลับไปในสมัยสงครามเย็น จีนกับสหรัฐมีระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน จีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ขณะที่สหรัฐปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ทั้งสองประเทศต่างเป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อกัน ไม่คบค้าสมาคม และไม่มีการเดินทางระหว่างกันในช่วงนั้น
แม้จีนกับสหภาพโซเวียตจะเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่ความสัมพันธ์กลับเกิดรอยร้าวขึ้น จากการที่ทหารจีนปะทะกับทหารโซเวียตเรื่องการอ้างสิทธิ์ในพรมแดน ตรงเกาะ “เจินเป่า” ในชื่อจีน หรือ “ดาแมนสกี” ตามภาษารัสเซีย บริเวณกลางแม่น้ำอัสซูรีในปี 2512 และขณะเดียวกัน สหรัฐก็ติดหล่มสงครามเวียดนาม ไม่สามารถเอาชนะเวียดนามเหนือที่มีจีนหนุนหลังได้
ปัญหาของทั้งสองประเทศนี้ จึงนำมาสู่การพิจารณาการสถาปนาการทูตระหว่างกันขึ้น แต่อาศัยเพียงความคิดอย่างเดียวคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมีผู้ริเริ่มด้วย ซึ่งในปี 2514 โจว เอินไหล รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีนในขณะนั้น ได้เสนอ “การทูตปิงปอง” (Ping-pong Diplomacy) ให้ “เหมา เจ๋อตุง” ประธานาธิบดีของจีนด้วยการส่งเทียบเชิญทีมนักกีฬาปิงปองของสหรัฐให้มาเที่ยวและแข่งขันกีฬาที่จีน โดยจีนจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ในช่วงแรก นักกีฬาปิงปองสหรัฐก็หวั่นเกรงว่าจีนจะปลอดภัยหรือไม่ บ้านเมืองจีนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะประชาชนทั้งสองประเทศไม่เคยเดินทางไปมาหาสู่กันมาก่อน
แต่ท้ายที่สุด นักกีฬาสหรัฐก็ตกลงเดินทางไปจีนเป็นครั้งแรก และได้รับการต้อนรับจากทางการปักกิ่งอย่างอบอุ่น รวมถึงพาไปชมสถานที่ท่องเที่ยวจีนต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้ คือ กำแพงเมืองจีนและพระราชวังฤดูร้อน นักกีฬาทั้งสองประเทศแข่งขันปิงปองด้วยกัน แม้จะยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตเกิดขึ้น แต่การเริ่มต้นความสัมพันธ์ก็เริ่มก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ
- ทีมนักปิงปองสหรัฐเที่ยวชมกำแพงเมืองจีนด้วยการต้อนรับจากรัฐบาลปักกิ่ง (เครดิต: Connie Sweeris) -
- ภาพหมู่ของทีมนักปิงปองจีนกับสหรัฐ (เครดิต: Connie Sweeris) -
- “คิสซิงเจอร์” คีย์แมนประสาน 2 ยักษ์ใหญ่จีน-สหรัฐ
ในช่วงนั้นเอง ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีกคนคือ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) นักการทูตและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ผู้ใช้การทูตกระสวยเจรจาไปมาระหว่างจีนกับสหรัฐ
ท้ายที่สุด เมื่อการเจรจาเป็นผลสำเร็จ ในปี 2515 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีของสหรัฐในยุคนั้น พร้อมกับคิสซิงเจอร์ก็เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และทำให้นิกสันเป็นผู้นำสหรัฐคนแรกที่ได้เยือนแดนมังกร
ครั้งนั้นทั้งสองประเทศได้พูดคุยถึงการปรับความสัมพันธ์ให้กลับมาอยู่ในระดับปกติ จนออกเป็นแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Communique) และนำมาสู่การที่จีนเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)
หลังการเยือนจีนราว 2 เดือน นิกสันยังเชิญนักกีฬาจีนไปเยือนที่ทำเนียบขาวด้วย ซึ่งจีนก็ตอบรับ นำโดยจวง เจ๋อต้ง (Zhuang Zedong) นักกีฬาปิงปองแชมป์โลก 3 สมัย เป็นหัวหน้าคณะ พาลูกทีมตีปิงปองกระชับมิตรกับทีมสหรัฐของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์
ในที่สุด วันที่ 1 ม.ค. 2522 จีนกับสหรัฐก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอย่างเป็นทางการ และส่งผลให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ทางการค้า การเงิน และการลงทุนที่ซับซ้อนและยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งมาจากลูกปิงปองลูกเล็ก ๆ
ในปัจจุบัน “จีน” กับ “สหรัฐ” แข่งขันกันในเกือบทุกด้าน ตั้งแต่เศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี ไปจนถึงการทหาร ความตึงเครียดระหว่างกันได้สะสมขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนน้ำที่กำลังเดือดพร้อมรอการปะทุ จีนจึงหยิบใช้พืชเศรษฐกิจสำคัญอย่าง “ถั่วเหลือง” ในการทูตเพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งกับสหรัฐ และควบคุมสถานการณ์นี้ไม่ให้บานปลายกลายเป็นสงคราม ซึ่งความร่วมมือกัน และ “สันติภาพ” ย่อมเป็นผลบวกต่อจีน สหรัฐและเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย
อ้างอิง: Spokesperson, bloomberg, britannica, diplomacy, economy, xijinping, chinadaily, english, voanews