เจโทรจัด เทศกาลหอยเชลล์โฮตาเตะ ชูวัตถุดิบพรีเมียมญี่ปุ่น หนุนส่งออกซีฟู้ด
ปีนี้เจโทรจัดแคมเปญสุดยิ่งใหญ่อีกครั้ง “HOTATE Festival เทศกาลหอยเชลล์โฮตาเตะ” เพื่อขยายตลาดวัตถุดิบญี่ปุ่นพรีเมียม ! เนื่องจากปีก่อน หอยเชลล์โฮตาเตะมียอดส่งออกมายังประเทศไทยสูงเกือบ 1,200 ล้านเยน !
หลังจากปีก่อน องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ จัดแคมเปญโปรโมตวัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ จนประสบความสำเร็จ มีร้านอาหารสนใจนำเข้าวัตถุดิบญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวมถึงคนไทยหลายล้านคนได้รู้จักวัตถุดิบคุณภาพพรีเมียมจากญี่ปุ่นมากขึ้น
ปีนี้เจโทรยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการค้าและการส่งออกวัตถุดิบญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยแคมเปญ “HOTATE Festival เทศกาลหอยเชลล์โฮตาเตะ” โดยจัดขึ้นเป็นระยะเวลาราว 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. จนถึง 29 ก.พ. 2567
โฮตาเตะ เป็นหอยเชลล์ญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพดี มีขนาดใหญ่ รสชาติหวาน จนได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งหอย” ส่วนที่มาของชื่อ “นะชิดะ คะสุยะ” เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น เล่าระหว่างเปิดแคมเปญ เมื่อวันศุกร์ (1 ธ.ค.) ว่า คนญี่ปุ่นมอง ลักษณะการเปิดเปลือกหอยคล้ายกับเรือที่กางใบเรือออก จึงเรียกว่าโฮตาเตะ ซึ่ง “โฮ” แปลว่า “ใบเรือ” และ “ตาเตะ” แปลว่า “กาง”
สำหรับที่มาของแคมเปญ “คุโรดะ จุน” ประธานเจโทร กรุงเทพฯ ระบุ
“ในปี 2565 ปริมาณการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะมายังประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 1,200 ล้านเยน หรือราว 288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 200% เมื่อเทียบกับปี 2564 และจัดเป็นสินค้าอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกมายังประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 9”
ด้วยเหตุนี้ เจโทรจึงอยากส่งเสริมการค้าหอยเชลล์ให้เติบโตมากขึ้น รุกตลาดการบริโภคกลุ่มใหม่ และเพิ่มช่องทางจำหน่ายหอยเชลล์ในไทย จึงจัดกิจกรรมโปรโมตสินค้า 3 รูปแบบ เริ่มต้นจากการขยายตลาดจำหน่ายหอยเชลล์ไปยังต่างจังหวัด นอกเหนือจากกรุงเทพฯ รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบในอาหารอื่นนอกจากอาหารญี่ปุ่น เช่น อาหารไทย และอาหารอิตาเลียน ซึ่งเจโทรได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งร้านอาหารไทยและญี่ปุ่น 65 แบรนด์ รวมจำนวน 261 ร้าน ธุรกิจค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ต 5 แบรนด์ รวม 29 สาขา และผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบอาหารอีกหลายบริษัท
กิจกรรมที่ 2 โปรโมตสินค้าผ่านงานอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น ในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงอินฟลูเอ็นเซอร์ เจโทรหวังว่าจะช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั่วไปหรือผู้บริโภคครัวเรือนมากขึ้น
นอกจากนี้ เจโทรยังส่งเสริมการค้าหอยเชลล์โฮตาเตะด้วยการนำไปเป็นวัตถุดิบหลักในรายการแข่งขันทำอาหาร “เชฟกระทะเหล็ก” เพื่อสร้างการรับรู้เป็นวงกว้าง ช่วยเพิ่มกระแสการบริโภคหอยเชลล์จากญี่ปุ่นมากขึ้น และเพื่อแสดงให้เห็นว่า หอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียม สามารถรังสรรค์เมนูได้หลากหลาย
ในมุมผู้ประกอบร้านอาหารต่าง ๆ ที่เข้าร่วมแคมเปญ ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าหอยเชลล์โฮตาเตะจะช่วยหนุนยอดขายของธุรกิจได้ เพราะมั่นใจว่าคนไทยชื่นชอบวัตถุดิบจากญี่ปุ่น และมั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบจากญี่ปุ่น
ยกตัวอย่าง ร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังหลายร้านที่ปกติจำหน่ายอาหารประเภทชุบแป้งทอด ได้เตรียมเมนูหอยเชลล์โฮตาเตะพิเศษเพื่อดึงดูดลูกค้าเพิ่มมากขึ้น หรือร้านอาหารเพื่อสุขภาพสไตล์โฮมเมด มองว่า หอยเชลล์โฮตาเตะเป็นวัตถุดิบที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เหมาะกับคอนเซปต์ของร้าน จึงนำมาผสมผสานกับวัตถุดิบที่ดีของไทยรังสรรค์เป็นเมนูรักสุขภาพใหม่ ๆ
สำหรับเป้าหมายยอดจำหน่ายหอยเชลล์โฮตาเตะ คุโรดะ เผยว่ายังไม่ได้สรุปยอดตัวเลขเป้าหมายชัดเจน แต่หวังว่าแคมเปญนี้จะช่วยหนุนให้ยอดส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะเพิ่มขึ้นไปอีกในทุก ๆ ปี
“ถ้าเป็นไปได้ หวังว่าอันดับการส่งออกหอยเชลล์จะขยับจากอันดับที่ 9 ขึ้นไปอย่างน้อย 1 อันดับ” คุโรดะ กล่าว
เมื่อถามถึงผลกระทบของการปล่อยน้ำเสียฟุกุชิมะ จนสร้างความกังวลต่อผู้บริโภคและประเทศนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น คุโรดะ บอกว่า การส่งออกอาหารทะเลญี่ปุ่นไปยังประเทศจีนค่อนข้างได้รับผลกระทบ แต่รัฐบาลได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลและสินค้าประมงในทะเลอย่างต่อเนื่อง
“ทางอย.ไทยก็มีการสุ่มตรวจสินค้าประมงจากญี่ปุ่นเช่นกัน เห็นได้ว่าอาหารทะเลมีขั้นตอนการตรวจค่อนข้างเยอะ จึงอยากให้มั่นใจในคุณภาพอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เพราะมีการเช็กสม่ำเสมอ” คุโรดะ ย้ำ