กระแสกลัวรถอีวีจีน ดันโลกผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลง

กระแสกลัวรถอีวีจีน ดันโลกผลิตรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลง

กระแสของรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามากวาดส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกอย่างรวดเร็ว กำลังเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต้องหันมาผลิตรถอีวีราคาถูกลง เร็วกว่าที่เคยวางแผนเอาไว้

“ตอนนี้ผู้ผลิตรถยนต์กำลังหันมาผลิตรถอีวีในราคาที่จับต้องได้ เพราะรู้ดีว่าถึงเวลาที่ต้องทำแล้ว ไม่อย่างนั้นก็จะแพ้ค่ายผู้ผลิตจากจีน”แอนดี ปาล์มเมอร์ ประธานบริษัทบริลล์ พาวเวอร์ ซึ่งเป็นสตาร์ตอัปผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแบตเตอรี่รถอีวี กล่าวกับรอยเตอร์ส

การผลิตรถอีวีราคาถูกและการลดราคากำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มบริษัทรถยนต์ตั้งแต่ตะวันตกจนถึงญี่ปุ่น เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา“เรโนลต์”จากฝรั่งเศส ประกาศแผนลดราคารถอีวีลงถึง 40% เพื่อให้ระดับราคาเทียบเคียงกับรถน้ำมัน

ฟากค่าย“สเตลแลนทิส”กำลังร่วมมือกับ“ซีเอทีเอล”จากจีนตั้งโรงงานในยุโรปเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนฟอสเฟต (LFP) และเมื่อเร็วๆ นี้ก็เพิ่งเปิดตัวรถเอสยูวีไฟฟ้ารุ่นใหม่กับ “ซีตรอง e-C3” ในราคาเริ่มต้นเพียง 23,300 ยูโร (ราว 9 แสนบาท)

ขณะที่“โฟล์กสวาเกน”และ“เทสลา”ก็กำลังพัฒนารถอีวีในราคา 25,000 ยูโร (ราว 9.6 แสนบาท) เช่นกัน

ทั้งนี้บรรดาค่ายรถยุโรปต่างก็จับตาการเข้ามาของรถอีวีราคาถูกจากจีนอย่างใกล้ชิด ขณะที่ไฟแนนเชียลไทม์สเคยรายงานก่อนหน้านี้ว่า หลายบริษัทในยุโรปได้ปรับลดราคารถอีวีกันไปแล้ว ทั้งเพื่อรับมือกับยอดขายรถอีวีที่ลดลงอย่างน่ากังวล และเพื่อรับมือกับการแข่งขันของอีวีจีน
 

“บีวายดี”คือตัวอย่างหนึ่งที่สามารถทำราคารถรุ่น บีวายดี ดอลฟิน แฮทช์แบ็ค 5 ประตู ในสหราชอาณาจักรด้วยราคาเริ่มต้นเพียง 26,000 ปอนด์ (ราว 1.17 ล้านบาท) หรือถูกกว่าถึง 30% เมื่อเทียบกับกับราคาเริ่มต้นของรถโฟล์กสวาเกน ID.3 แฮทช์แบ็ค

ทว่าสำหรับผู้ผลิตในสหรัฐที่ได้รับการปกป้องมาแล้วส่วนหนึ่งจากกฎหมายไออาร์เอ กำลังมองหาการผลิตรถอีวีในราคาที่ถูกลง

“จีเอ็ม”ระบุว่าสามารถประหยัดเงินได้นับพันล้านดอลลาร์จากการพัฒนาแบตเตอรี่ราคาไม่แพงที่มาพร้อมกับแบต LFP สำหรับรถรุ่น Bolt EV โฉมใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2568 หรือมาเร็วกว่าที่คาดไว้ 2 ปี

ทางด้าน“ฟอร์ด”ประกาศจะลดรายจ่ายลง 50% โดยส่วนหนึ่งจะมาจากชิ้นส่วนที่ผลิตเองเช่น แบตเตอรี่และอินเวอร์เตอร์

การเน้นเรื่องราคายังหมายความว่าผู้ผลิตหลายรายต้องหันมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรถและสามารถช่วยลดราคาลงได้

วินเซนต์ พลูวิเนจ ซีอีโอของบริษัทวันดี แบตเตอรี่ ไซแอนซ์ กล่าว่า นวัตกรรมของบริษัทคือการเพิ่มเส้นลวดนาโนซิลิกอนให้กับวัสดุแอโนดของแบตเตอรี่แกรไฟต์อีวี เพื่อเพิ่มระยะและลดเวลาในการชาร์จ ซึ่งประหยัดเงินได้ 281 ดอลลาร์ หรือเกือบ 50% เมื่อเทียบกับการใช้กราไฟท์เพียงอย่างเดียวสำหรับแบตเตอรี่อีวีขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิธีการนี้ยังช่วยลดน้ำหนักของแบตเตอรี่ลงได้ 20% ทำให้บริษัทรายใหญ่อย่าง จีเอ็ม เข้ามาเป็นทั้งนักลงทุนและลูกค้าของวันดี

พลูวิเนจ กล่าวด้วยว่าจากการที่ได้ร่วมประชุมกับลูกค้าผู้ผลิตรถยนต์หลายรายในยุโรป ทุกการประชุมต่างก็เริ่มด้วยประโยคในทำนองเดิมๆ ว่า“การลดราคาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดกว่าทุกๆ เรื่องในตอนนี้”