พีระมิด ‘อินโดนีเซีย’ อายุ 25,000 ปี ไม่ได้สร้างด้วยฝีมือมนุษย์?
“นักโบราณคดีตะวันตก” อ้าง พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก อายุ 25,000 ปี ซึ่งถูกค้นพบในอินโดนีเซีย ไม่มีหลักฐานชัดเจน สร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
แม้ว่า กินเนสบุ๊ค เวิลด์ เรคคอร์ด ได้บันทึกเป็นทางการให้ "พีระมิดโจเซอร์" หรือพีระมิดแห่งซักการา แห่งแรกในอียิปต์ มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก หรือประมาณ 2,630 ปีก่อนคริสตกาล
แต่เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่บทความหนึ่งอ้างว่า "พีระมิดกุนุงปาดัง" ของอินโดนีเซีย ถูกสร้างเมื่อ 25,000 ก่อนคริสตกาล
สิ่งนี้ สร้างความสงสัยนำไปสู่การค้นหาข้อมูลเชิงลึกว่า สถาปัตยกรรมโบราณแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์หรือไม่
พีระมิดกุนุงปาดัง สถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่
"เดนนี ฮิลล์แมน นาทาวีทาจา" นักวิจัยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติอินโดนีเซีย ได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสาร Archaeological Prospection เกี่ยวกับลาวาแอนดีไซต์ขนาดใหญ่ที่ถูกแกะสลักอย่างสวยงาม ซึ่งถูกสร้างเป็นแกนกลางพีระมิดกุนุงปาดัง รวมไปถึงองค์ประกอบของพีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลกแห่งนี้ น่าจะมีต้นกำเนิดจากธารลาวาทางธรรมชาติ บนยอดเขาสูง ก่อนผู้ค้นพบจะทำการแกะสลักและรังสรรค์เป็นสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่
บทความนี้ให้ความกระจ่างชัด ในเรื่องทักษะการก่ออิฐขั้นสูง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณย้อนกลับไปถึงยุคน้ำแข็ง
ท้าทายความเชื่อเดิม
แต่การค้นพบนี้ ท้าทายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า อารยธรรมและการพัฒนาเทคนิคก่อสร้างขั้นสูง ได้ถือกำเนิดในยุคเกษตรกรรม เมื่อประมาณ 11,000 ปีที่แล้ว
เนื่องจากหลักฐานที่ค้นพบรอบๆ กุนุงปาดัง และสถานที่ที่ค้นพบพีระมิดอย่างในตุรกี แสดงให้เห็นถึงวิธีการก่อสร้างขั้นสูงมีอยู่แล้ว ซึ่งบางทีในยุคเกษตรกรรม อาจยังไม่มีเทคนิควิศวกรรมขั้นสูงอย่างนี้
ถึงอย่างไร นักวิชาการอินโดนีเซียย้ำว่า ผู้สร้างพีระมิดนี้ ต้องมีทักษะมาก ในการก่อเรียงอิฐขึ้นสูงตระหง่าน แต่นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ไม่คิดเช่นนั้น กลับถามหาหลักฐานสำคัญ
"ฟลินต์ ดิบเบิล" นักโบราณคดีชาวอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ กล่าวค้าน และได้แสดงความเห็นในวารสารเนเจอร์ว่า “ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่บ่งชี้ว่า อิฐที่เรียงเป็นชั้น ได้ถูกสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
“ปกติแล้ว วัสดุบนเนินเขา จะไหลลงมาตามแรงโน้มถ่วงโลก ซึ่งเรามีเพียงข้อมูลนี้ แต่ว่าไม่อาจอธิบายได้ทั้งหมด และที่สำคัญยังไม่มีหลักฐานว่ามนุษย์สร้างขึ้น” ดิบเบิลกล่าว
ไร้หลักฐานฝีมือมนุษย์สร้าง
ขณะเดียวกัน “บิล ฟาร์ลีย์” นักโบราณคดี มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น คอนเนตทิคัตสเตท พูดสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า ตัวอย่างดินจากกุนุงปาดังแสดงให้เห็นดินแดนแห่งนี้ มีความเก่าแก่ 27,000 ปี แม้การศึกษาจะระบุเวลาที่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งบอกชัดเจนว่า เป็นสถาปัตยกรรมสร้างจากฝีมือมนุษย์ เช่น กระดูก ถ่าน หรือไม้ฟอสซิล ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม นาทาวีทาจาค้านความเห็นของนักวิจัยชาติตะวันตก พร้อมเชิญชวนนักวิจัยทั่วโลก เข้ามาศึกษาและสำรวจพีระมิดกุนุงปาดังแห่งนี้ เพื่อให้ได้หลักฐานและได้คำตอบที่ชัดเจน
รู้จักพีระมิด 25,000 ปี
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า แนวคิดพิสดารเรื่องอารยธรรมของสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ หรืออารยธรรมของเอเลียนที่อพยพมายังโลกซึ่งหายสาบสูญไปดังกล่าว เรียกว่า “สมมติฐานไซลูเรียน” ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พีระมิดแห่งกุนุงปาดังเข้าข่ายร่องรอยของอารยธรรมชั้นสูงยุคโบราณนี้หรือไม่
กุนุงปาดังถือเป็นเนินเขาศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่น ส่วนยอดมีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันได โดยมีลานระเบียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไปจนถึงยอดเขา บริเวณโดยรอบยังมีแท่งหินที่ถูกตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมยาว วางกองระเกะระกะอยู่เกลื่อน ซึ่งอาจเป็นเศษหินที่คนโบราณสกัดมาใช้ในการก่อสร้าง
พีระมิดแห่งกุนุงปาดังมีความมหัศจรรย์อยู่ที่โครงสร้างอันซับซ้อน ซึ่งเกิดจากการเจาะสกัดหินลาวาก้อนใหญ่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับมอดแล้ว จนเกิดโพรงลึกเข้าไปในแกนกลางของภูเขาไฟ
ด้านในพีระมิดแบ่งเป็นหลายชั้น จากยอดเขาลึกลงไปถึงใต้เนินเขา 30 เมตร ทั้งมีสิ่งก่อสร้างย่อยๆ ที่นำมาประกอบรวมกันทั้งหมด 4 ยูนิต ซึ่งชั้นลึกสุดใต้ดินมีห้องโถงขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ และอาจมีโบราณวัตถุล้ำค่าบรรจุอยู่ภายใน
รายงานบีบีซีบอกด้วยว่า ทีมนักสำรวจได้พบร่องรอยการฝังกลบโครงสร้างหน่วยเก่าก่อนต่อเติมขึ้นใหม่ ซึ่งสันนิษฐานว่า อาจเป็นการอำพรางตัวตนที่แท้จริงของโบราณสถานแห่งนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาส่วนดั้งเดิมให้รอดพ้นจากการถูกทำลายหรือการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา
ที่มา : indy100 ,BBC