‘สีส้ม’ ในชาไทย อันตรายหรือไม่? ทำไมถูกแบนในบางประเทศ
ไม่ใช่สีธรรมชาติแต่เป็นผงสังเคราะห์? เปิดที่มาชาไทยสีส้มสดใส แท้จริงแล้วมาจาก “Sunset Yellow FCF” สีสังเคราะห์เพื่อการผสมอาหาร ซึ่งสหภาพยุโรปมีมติแบน หลังมีงานศึกษาชี้ อาจมีส่วนให้เด็กสมาธิสั้น-เชื่อมโยงโรคร้ายแรงแต่ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง
“ชาไทย” หรือ “ชาเย็น” ได้รับการจัดอันดับจาก “TasteAtlas” เว็บไซต์รวบรวมร้านอาหาร สูตรอาหาร และวัตถุดิบจากท้องถิ่นทั่วโลก ติด 1 ใน 10 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่คะแนนดีที่สุดในโลก โดยเครื่องดื่มชาไทยสีส้มที่เราคุ้นเคยเป็นการนำ “ชาซีลอน” มาดัดแปลงด้วยการปรับสีและกลิ่น รวมทั้งยังมีการเติมนมและน้ำตาลเข้าไปเพื่อให้รสชาติกลมกล่อมถูกปากมากขึ้น นอกจากคนไทยจะนิยมดื่มชาไทยกันอย่างแพร่หลายต่างชาติเองก็ให้ความสนใจเมนูนี้เช่นกัน เห็นได้จากคิวหน้าร้านตามห้างสรรพสินค้าที่ได้รับความสนใจกันอย่างเนืองแน่น
อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ชาไทยสีส้มที่เราคุ้นเคยมีหน้าตาที่แตกต่างออกไปในต่างประเทศ จากสีส้มเข้มกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อนคล้ายกับโกโก้หรือโอวัลตินมากกว่า ซึ่งในเวลาต่อมาก็พบว่า แท้จริงแล้วนี่คือสีน้ำตาลที่แปลกตาเช่นนี้เป็นสีของ “ชาไทย” หรือ “ชาเย็น” แบบดั้งเดิม ทว่าสีส้มที่หลายคนคุ้นเคยกันนั้นเกิดจากการใส่สีผสมอาหารเพื่อให้เครื่องดื่มน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น
ผงชาไทยสำเร็จรูปที่ส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปมีข้อห้ามใช้สีผสมอาหาร “Sunset Yellow FCF” ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักที่ทำให้ผงชาไทยมีสีส้มเข้ม ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า สีผสมอาหารที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้อันตรายต่อร่างกายหรือไม่ และสีเหล่านี้ส่งผลกับรสชาติหรือความอร่อยอย่างไร “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนหาคำตอบในบทความนี้
- “ชาไทย” สีส้ม “ชาซีลอน” สีน้ำตาล
จากข้อมูลตามประวัติศาสตร์พบว่า คนไทยรู้จักการดื่มชามานานมากแล้ว โดยมีหลักฐานที่ระบุถึงวัฒนธรรมการดื่มชาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาผ่านบันทึกเกี่ยวกับการดื่มชาในจดหมายเหตุลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลังจากนั้นวัฒนธรรมการดื่มชาในไทยก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมาตั้งแต่การเริ่มนำนมข้นหวานและน้ำแข็งมาใส่ กระทั่งในช่วงรัชกาลที่ 6 พบว่า ประเทศไทยมีร้านกาแฟโบราณเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า ยุคนี้เป็นยุคที่คนไทยรู้จักการ “ใส่นม” ในเครื่องดื่มชา
สำหรับสีของชาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับชาสัญชาติอื่นๆ เนื่องจาก “ชาไทย” มีการเติมสีผสมอาหารลงไปในผงชาด้วย โดยผู้ผลิตชาไทยมักเติมสีผสมอาหารสีเหลืองและสีแดงในใบชาแห้งระหว่างกระบวนการผลิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้สีของชาไทยน่ารับประทาน โดยการเติมสีผสมอาหารสังเคราะห์ลงในใบชาแห้งเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ผลิตไทย
หากถามว่า สีของใบชามีผลต่อกลิ่นและรสชาติของชาไทยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีผลต่อรสชาติ เพียงแต่ที่เราเห็นถึงความเข้ม-ความอ่อนของสีชานั้นมาจากปริมาณการใส่ที่มาก-น้อยแตกต่างกัน หากใส่ส่วนผสมที่เป็นนมมากก็จะทำให้สีชาไทยอ่อนลง รสชาติก็จะมีความนัวจากส่วนผสมของนมมากกว่า
- สีผสมอาหารอันตรายหรือไม่?
กรณีการแบนสีผสมอาหารในโซนยุโรปนำไปสู่คำถามที่ว่า หากสีสังเคราะห์เหล่านี้ไม่ปลอดภัยแล้วทำไมบ้านเราจึงสามารถใช้เป็นส่วนผสมได้
เนื่องจากในประเทศในสหภาพยุโรปมีข้อห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนผสมของ “Sunset Yellow FCF” หรือสีสังเคราะห์ให้สีเหลืองถึงสีส้ม โดยหน่วยงานภาครัฐอย่าง “สำนักงานมาตรฐานอาหารของประเทศอังกฤษ” (Food Standards Agency: FSA) เรียกร้องให้ภาครัฐยกเลิกการใช้สีสังเคราะห์อาหาร 6 สีภายในปี 2552 ทั้งยังเรียกร้องให้เลิกใช้ทุกประเทศในสหภาพยุโรปด้วย โดยสีทั้ง 6 มีรายชื่อดังต่อไปนี้ “Tartrazine” “Quinoline Yellow” “Sunset Yellow” “Carmoisine” “Ponceau 4R” และ “Allura Red”
ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักข่าว “ดิ อินดิเพนเดนต์” (The Independent) ระบุว่า สีเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับภาวะสมาธิสั้นในเด็ก จากการศึกษาในกลุ่มเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน (University of Southampton) พบว่า สีผสมอาหารทำให้เด็กนักเรียนเสียสมาธิ และไม่สามารถผ่านการทดสอบได้ ทั้งนี้กลุ่มนักวิจัยคาดว่า 30% ของเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้น (ADHD) สามารถป้องกันได้หากบริษัทผู้ผลิตต่างๆ เลิกใช้สีสังเคราะห์ผสมอาหาร
หากถามว่า สีผสมอาหารเหล่านี้เป็นอันตรายหรือไม่ เว็บไซต์ “Hello Khunmor” ระบุว่า มีงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า สีผสมอาหารเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพร้ายแรง แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า สีผสมอาหารเหล่านั้นเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพโดยตรง สำหรับบางคนอาจเกิดอาการแพ้สีผสมอาหารในปัจเจกบุคคลแต่ไม่ใช่สาเหตุอาการป่วยทั้งหมดนั่นเอง
อ้างอิง: Aboxtik, Bangkokbiznews, Chineseteas 101, Hello Khun Mor, The Independent, Luckeetea, Urban Creature, YouTube