'อิสราเอล' ขึ้นศาลโลก ต่อสู้คดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์
ศาลโลกที่กรุงเฮกเริ่มพิจารณาคดีแล้ววันนี้ ในคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ หลังแอฟริกายื่นฟ้องว่าการทำสงครามของอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในวันนี้ (11 ม.ค.67) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) หรือศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เริ่มเปิดการพิจารณาคดีแล้วไปจนถึงวันพรุ่งนี้ ในคดีที่ประเทศแอฟริกาใต้ยื่นคำร้องเมื่อเดือนธ.ค.2566 โดยระบุว่าการทำสงครามของอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส ในฉนวนกาซานั้น ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 (พ.ศ.2491)
ผู้แทนของอิสราเอลเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้คดีในวันนี้ในข้อหากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา ในขณะที่นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ได้ออกมาปฏิเสธอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกต่อข้อเรียกร้องจากรัฐมนตรีฝ่ายขวาบางคนให้ทำการยึดครองฉนวนกาซาอย่างถาวร
การพิจารณาคดีเบื้องต้นในสัปดาห์นี้ จะมุ่งเน้นไปที่คำร้องของแอฟริกาใต้ที่ขอให้ศาลออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อสั่งให้อิสราเอลยุติปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา และศาลจะทำการทบทวนคดีโดยรวม แต่คาดว่าจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานหลายปี
ประธานาธิบดี ซีริล รามาโฟซา แห่งแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ประเทศของตนถูกผลักดันให้ยื่นฟ้องคดีนี้เพราะ "การสังหารประชาชนในฉนวนกาซาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง" โดยมีแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์การแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกาใต้ ขณะที่ประเทศโคลอมเบีย และบราซิลยังได้แสดงจุดยืนสนับสนุนแอฟริกาใต้เมื่อช่วงเย็นวันที่ 10 ม.ค.67 ที่ผ่านมาเช่นกัน
ทางด้านแมตต์ มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า อิสราเอลจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อลดการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน แต่ขณะเดียวกันก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่า "ไม่มีมูล"
"ในความเป็นจริง คนเหล่านั้นที่โจมตีอิสราเอลอย่างรุนแรงต่างหากที่ยังคงเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ทำลายล้างอิสราเอลและการสังหารหมู่ชาวยิว" โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างฉับพลันเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ปีที่ผ่านมา โดยทางการอิสราเอลระบุว่า การโจมตีดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1,200 ราย และมีพลเมืองถูกลักพาตัวอีก 240 คน
อิสราเอลได้ใช้ปฏิบัติการตอบโต้ด้วยการโจมตีฉนวนกาซาซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 23,000 ราย และประชาชนเกือบ 2.3 ล้านคนในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นฐานจากบ้านเรือนของตัวเอง และก่อให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์