เวิลด์แบงก์หวั่นวิกฤตทะเลแดงซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกยุคขาลง

เวิลด์แบงก์หวั่นวิกฤตทะเลแดงซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกยุคขาลง

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของเวิลด์แบงก์ หรือ ธนาคารโลก วิตกกังวลว่า วิกฤตทะเลแดงจะซ้ำเติมและฉุดรั้งความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ในยุคที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาชึ้น และอัตราเงินเฟ้อยังเป็นปัญหา

 วิกฤตทะเลแดงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจลุกลามสู่ระดับภูมิภาค จนเกิดการปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่มีการขนส่งน้ำมันวันละ 21 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 21% ของปริมาณการขนส่งน้ำมันทั่วโลกในแต่ละวัน ทั้งยังเป็นช่องทางเดินเรือส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดในตะวันออกกลาง

ธนาคารโลกเคยประเมินว่า หากสงครามอิสราเอลกับฮามาสลุกลามนำไปสู่ความขัดแย้งขนาดใหญ่ของชาติในตะวันออกกลางเทียบเท่ากับเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์คว่ำบาตรน้ำมันของชาติอาหรับในโลกตะวันตก เมื่อปี ค.ศ. 1973 หรือสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur) จะทำให้อุปทานน้ำมันทั่วโลกลดลง 6-8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ในช่วง 140-157 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ตอนนี้บริษัทหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณเตือนถึงผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในทะเลแดง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้ามากมายตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงพลังงาน ทำให้ต้นทุนสินค้าพุ่งสูงขึ้นและเกิดความตึงเครียดในห่วงโซ่อุปทาน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐ วางแผนที่จะระงับการผลิตรถยนต์ที่โรงงานแห่งหนึ่งในเยอรมนีเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากการขนส่งต้องล่าช้าออกไป 

เช่นเดียวกับวอลโว่ ค่ายรถสัญชาติสวีเดน ประกาศระงับการผลิตที่โรงงานในเบลเยียมเป็นเวลา 3 วัน ส่วนแบรนด์ค้าปลีกอังกฤษอย่างเทสโก้, มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ และเน็กซ์ ต่างก็ส่งสัญญาณถึงความเสี่ยงที่จะปรับขึ้นราคาสินค้า

ผลกระทบดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการที่เรือขนส่งอย่างน้อย 2,300 ลำต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือที่ใช้เวลานานขึ้นเพื่อเลี่ยงการโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีในทะเลแดง ซึ่งปกติเส้นทางดังกล่าวรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลคิดเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของทั่วโลก

นอกจากนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางหลายแห่งต่างเตือนเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งอาจสกัดกั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสำหรับหลายบริษัทโดยเฉพาะในยุโรปนั้น ถือเป็นการซ้ำเติมระยะเวลาขนส่งสินค้าที่นานขึ้น รวมถึงค่าขนส่งและค่าประกันภัยเรือที่สูงขึ้น ส่งผลให้นักวิเคราะห์ต้องทบทวนตัวเลขคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ ในปีนี้

ข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กบ่งชี้ว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขคาดการณ์กำไรของผู้ผลิตรถยนต์ปรับตัวลดลง 5% สวนทางกับบริษัทขนส่งสินค้าทางเรือ โดยอัตราค่าตู้คอนเทนเนอร์พุ่งขึ้นถึง 300% ในบางเส้นทาง

ด้านจอห์น ลีเวลลิน หุ้นส่วนบริษัทอินดิเพนเดนท์ อีโคโนมิกส์ และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี) ให้ความเห็นว่า สถานการ์ตึงเครียดในทะเลแดงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าโลกในสัดส่วน 30% จาก 10% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีความเป็นไปได้สูงมากว่าสถานการณ์ในทะเลแดงจะขยายวงกว้างไปยังช่องแคบฮอร์มุสและลามไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง