‘สหรัฐ-พันธมิตร’ ลดพึ่งพาจีน หาคู่ค้าใหม่หนุนเศรษฐกิจ
สหรัฐและพันธมิตรกำลังดำเนินกลยุทธ์ “ลดความเสี่ยง” (derisking) หรือการลดการพึ่งพาการค้าจากจีน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐ ญี่ปุ่น และเขตเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ ต่างลดพึ่งพาจีนจนบั่นทอนการเติบของเศรษฐกิจโลก หลายประเทศหันมาค้าขายกับสหรัฐมากขึ้น
เว็บไซต์นิกเคอิวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มประเทศ G20 พบว่า การค้ารวมของจีนกับสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป มีมูลค่าทั้งสิ้น 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 35% ของปริมาณการค้าโดยรวม แต่ในปี 2566 จีนกลับส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐตามหลังเม็กซิโก ชาวอเมริกันนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอื่น ๆ จากประเทศอื่นมากขึ้น
ขณะที่การนำเข้าสมาร์ตโฟนจากจีนของชาวอเมริกันลดลงประมาณ 10% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือนในปี 2566 แต่นำเข้าสินค้าดังกล่าวจากอินเดียเพิ่มขึ้น 5 เท่า และการนำเข้าแล็ปท็อปจากจีนก็ลดลงเกือบ 30% เนื่องจากหันไปนำเข้าสินค้าชนิดนี้จากเวียดนามแทน
ทั้งนี้ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน เริ่มต้นขึ้นในปี 2561 ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ วอชิงตันกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นวงกว้าง มาถึงรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงดำเนินมาตรการเหล่านั้นต่อไป พร้อมผลักดันการสร้างพันธมิตร หรือเปลี่ยนซัพพลายเชนไปยังประเทศที่เป็นมิตรมากขึ้น
การส่งออกจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไปยังจีนลดลงเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐกลายเป็นจุดหมายปลายที่ญี่ปุ่นส่งออกไปมากที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในปี 2566 และมากกว่าการส่งออกไปจีนด้วย ขณะที่การส่งออกของเกาหลีใต้ไปยังสหรัฐในเดือน ธ.ค. 2566 ก็มากกว่าการส่งออกไปจีนที่เริ่มปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับญี่ปุ่น
เบนจามิน แคสเวลล์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในอังกฤษ กล่าวว่า จีน ประเทศที่เคยส่งออกสินค้าไปยังอังกฤษมากเป็นอันดับที่ 1 ร่วงลงเป็นอันดับที่ 3 ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. ในปีที่ผ่านมา หลายบริษัทในอังกฤษต่างพยายามลดการพึ่งพาซัพพลายเชนจากจีน เนื่องจากรัฐบาลปักกิ่งและสหรัฐ ร่วมถึงยุโรป มีความสัมพันธ์ที่เย็นชาต่อกัน
การนำเข้าสินค้าจากจีนของประเทศเยอรมนีก็ลดลง 13% ในปี 2566 เนื่องจากรัฐบาลของโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีมีจุดยืนที่ต่อต้านจีนมากขึ้น ขณะที่สหรัฐอาจแซงจีนจนกลายเป็นพันธมิตรทางการค้าของเยอรมนีอันดับต้น ๆ ในปีนี้
จากสถานการณ์ดังกล่าว สหรัฐและพันธมิตรกำลังดำเนินกลยุทธ์ “ลดความเสี่ยง” (derisking) หรือการลดการพึ่งพาการค้าจากจีน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
แม้เศรษฐกิจจีนชอละตัวทำให้คู่ค้ารีบเปลี่ยนทิศทางการค้า แต่ประเทศเกิดใหม่และกลุ่มผู้ส่งออกหลายแห่งยังคงพึ่งพาการค้าจากจีนอย่างหนัก
บราซิลส่งออกสินค้าไปยังจีนเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนเติบโต 50% นับตั้งแต่ปี 2562 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แซงหน้าการเติบโตทางการค้าของประเทศอื่นในอเมริกาใต้กับสหรัฐอย่างมาก ส่วนการส่งออกแร่เหล็กและถั่วเหลืองเติบโตแข็งแกร่งเช่นกัน
บราซิลมีความกระตือรือร้นในการกระชับสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมากขึ้น รวมถึงการขยายการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินหยวนและเงินเรียลของบราซิล โดยไม่ต้องใช้เงินดอลลาร์เป็นตัวกลาง
ออสเตรเลีย หนึ่งในพันธมิตรสหรัฐ ส่งออกสินค้าไปยังจีนเพิ่มขึ้น 17% ในปี 2566 เช่นกัน ผลจากแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียดำเนินการฟื้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลปักกิ่งนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่ง จนนำไปสู่การขนส่งฝ้ายและทองแดงเพิ่มมากขึ้น
ด้านสำนักงานบริหารงานทั่วไปของกรมศุลกากรจีนรายงานว่า จีนมีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐลดลง 2.5% ในรอบ 5 ปี ในปี 2566 ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีสัดส่วนการค้ากับจีนลดลง 1.7% และ 1.5% ตามลำดับ ส่วนเยอรมนีลดลง 0.5% และอังกฤษ 0.1% แต่ในทางตรงข้าม อาเซียนมีสัดส่วนการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น 2.6% เนื่องจากบริษัทจีนแห่ลงทุนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น ขณะที่บราซิลมีสัดส่วนการค้ากับจีนเติบโต 0.7% และรัสเซียค้ากับจีนเพิ่มขึ้น 1.7% เพราะจีนนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมากขึ้น เนื่องจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรจากหลายประเทศหลังรัฐบาลมอสโกรุกรานยูเครน ทำให้รัสเซียต้องจำหน่ายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในราคาที่ถูกลง
ขณะเดียวกันธุรกิจจีนรุกลงทุนในเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเม็กซิโกก็แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีก่อน ทำให้รัฐบาลวอชิงตันต้องเรียกเจ้าหน้าที่เม็กซิโกหารือเกี่ยวกับการคัดกรองการลงทุนให้เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประเทศผู้รับ (Recipient Country) กับรัฐบาลปักกิ่งได้
ยกตัวอย่างเช่น อิตาลีขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น 40% ในปี 2562 ในช่วงที่อิตาลีเป็นประเทศจากกลุ่ม G7 เพียงแห่งเดียวที่ลงนามข้อริเริ่มการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน “สายแถบและเส้นทาง” กับจีน แต่รัฐบาลโรมได้บอกกับรัฐบาลปักกิ่งเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 แล้วว่าจะออกจากกรอบการดำเนินงานดังกล่าว