ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจออสเตรเลีย จุดแข็งเสริมมิตรภาพอาเซียน

ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจออสเตรเลีย  จุดแข็งเสริมมิตรภาพอาเซียน

อย่างที่กล่าวไว้ในฉบับก่อนว่า World Pulse ได้มาเยือนออสเตรเลียเพื่อร่วมโครงการ International Media Visit (IMV) กับเพื่อนสื่อมวลชนจากอาเซียน เนื่องในโอกาสการประชุมผู้นำอาเซียน - ออสเตรเลียสมัยพิเศษ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.67 ณ นครเมลเบิร์น

ทริป IMV ระหว่างวันที่ 3-11 ก.พ.67กับการเยี่ยมเยือนเมลเบิร์น แคนเบอร์รา วอลลองกอง และซิดนีย์ ได้พบปะผู้คนทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ช่วยให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่ออสเตรเลีย เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนตลอด 50 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้า สมกับสโลแกน A Partnership for the Future 

การประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษนับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้กระชับความเป็นพันธมิตรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผ่านการจัดกิจกรรมในสี่ด้าน ได้แก่ ธุรกิจ ผู้นำหน้าใหม่ ภูมิอากาศ และพลังงานสะอาด และความร่วมมือทางทะเล โดยกิจกรรมจะยึดตามธีม “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583” ที่ให้ความสำคัญกับ 10 ภาคส่วน และถ้าพิจารณาดูให้ดีทั้ง 10 ภาคส่วนที่ว่ามาคือ จุดแข็งเผลอๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของออสเตรเลียเลยก็ได้ ซึ่ง World Pulse  ได้สัมผัสมาจากทริป  IMV อยากนำมาเล่าสู่กันฟัง 

เริ่มตั้งแต่เที่ยวบินกรุงเทพฯ - เมลเบิร์น ผู้โดยสารเต็มลำ ดูหน้าตามีตั้งแต่ฝรั่ง อาหรับ เอเชียใต้  เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในจำนวนนี้มีทั้งนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือน และพลเมืองออสเตรเลียผู้มีบรรพบุรุษมาจากที่อื่น สะท้อนถึงความหลากหลายของประเทศนี้  

ลงจากเครื่องผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง และศุลกากรทุกอย่างเป็นระบบ มีข้อสงสัยสอบถามเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลเป็นอย่างดี  ผ่านกระบวนการนี้แล้ว World Pulse ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และการค้าออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ดูแลทริป IMV ให้นั่งแท็กซี่จากสนามบินเข้าโรงแรมที่พัก แต่ด้วยความอยากลองเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเลยเลือกนั่งรถบัสเข้าเมือง พนักงานขายตั๋วอธิบายเส้นทางอย่างละเอียดว่าให้นั่งไปลงสถานีกลางแล้วนั่งรถรางฟรีต่อไปจนถึงโรงแรม  

 

เธอแนะนำด้วยว่า เมื่อเข้าเมืองแล้วถ้าไปต่อไม่ถูกก็ให้ถามคนแถวนั้นดู ซึ่ง World Pulse ก็ทำแบบนั้นจริงๆ ถามไถ่หลายคนเพื่อความชัวร์ จนตระหนักว่า คนออสเตรเลียใจดี มีน้ำใจ ยินดีให้ความช่วยเหลือ ค่ารถบัส 23.99 ดอลลาร์ออสเตรเลีย คุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับแท็กซี่ที่อยู่ระหว่าง 80 - 110 ดอลลาร์ออสเตรเลีย แถมยังได้เรียนรู้ผู้คน  ซึ่งการที่เขามีน้ำใจเต็มใจช่วยเหลือเช่นนี้ แอนนา ผู้ดูแลโครงการเล่าว่า เป็นเพราะคนออสเตรเลียชอบท่องเที่ยว พวกเขาจึงเข้าใจดีว่าเวลาคนต่างบ้านต่างเมืองมาเยือนแล้วเกิดอาการหลงทาง ไม่เข้าใจภาษาต้องการความช่วยเหลือเช่นไร 

คุณลักษณะเช่นนี้เหมาะสมกับภาคส่วนเศรษฐกิจนักท่องเที่ยว (visitor economy) ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ประเมินว่าภายในปี 2583  ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไปท่องเที่ยวต่างประเทศปีละ 181 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 40.69 ล้านคนในปี 2565 ภาคธุรกิจออสเตรเลียจึงควรแสวงหาประโยชน์จากโอกาสอันดีนี้ 

อีกหนึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกันเพราะเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนนั่นคือ ภาคส่วนการศึกษาและเพิ่มทักษะ คนไทยนิยมไปเรียนที่ออสเตรเลียกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในอาเซียน สื่อมวลชนในทริป IMV จากลาว และบรูไนก็เรียนจบจากออสเตรเลีย  มองในภาพรวมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้น และความต้องการกำลังแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งผลักดันความต้องการบริการด้านการศึกษา ภาคส่วนนี้ถือเป็นบริการใหญ่สุดชนิดหนึ่งที่ออสเตรเลียส่งออกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะการเดินทางที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปี 2565 มูลค่าสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ 

นี่แค่สองจาก 10 ภาคส่วนใน “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583” ที่เหลือได้แก่ เกษตรกรรมและอาหาร, ทรัพยากร, การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว, โครงสร้างพื้นฐาน, การศึกษาและทักษะ, ดูแลสุขภาพ, เศรษฐกิจดิจิทัล, บริการวิชาชีพและการเงิน และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ไทยกำลังโหมโปรโมตภายใต้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ แต่ละภาคส่วนล้วนเผยให้เห็นถึงจุดแข็ง และโอกาสที่ไม่ใช่แค่สำหรับออสเตรเลียที่เป็นคู่เจรจารายแรกของอาเซียนเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสของอาเซียนด้วย รายละเอียดเป็นอย่างไรไว้ติดตามกันต่อคราวหน้า 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์